Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการดำเนินงานโสตทัศนศึกษาในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางสำหรับปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโสตทัศนศึกษาในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลการวิจัยพบว่าห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐส่วนใหญ่มีการดำเนินงานโสตทัศนศึกษาที่ไม่แตกต่างกันโดยด้านงานบริหาร มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานรวมกับงบประมาณของห้องสมุดบุคลากรที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ คือ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาและมีอาคาร/สถานที่ในการดำเนินงานเป็นเอกเทศ สำหรับด้านงานเทคนิคนั้น ห้องสมุดมีการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์กล่าวคือมีการจัดทำคู่มือช่วยค้นในรูปของบัตรรายการ และบรรณานุกรม (รูปเล่ม) การจัดหมู่โสตทัศนวัสดุใช้ระบบรหัสทะเบียนและจัดเก็บโสตทัศนวัสดุแบบชั้นปิดโดยแยกเก็บตามประเภทของโสตทัศนวัสดุ ส่วนด้านงานบริการนั้นห้องสมุดให้บริการโสตทัศนวัสดุและอุปกรณ์ แก่อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน โดยทั่วไปให้บริการเฉพาะภายในห้องสมุดยกเว้นอาจารย์ซึ่งห้องสมุดส่วนใหญ่ให้บริการยืมใช้ภายนอกสถานที่ด้วย โสตทัศนวัสดุทีมีในห้องสมุดส่วนใหญ่คือ สไลด์ วีดีทัศน์ เทปบันทึกเสียง แผนที่ รูปภาพ ฟิล์มสตริป ไมโครฟิช ลูกโลก และแผ่นใส สำหรับโสตทัศนูปกรณ์ที่มีในห้องสมุดส่วนใหญ่ คือ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องเล่นวีดีทัศน์ เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง หูฟัง และเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ ปัญหาในการดำเนินงานโสตทัศนศึกษาโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่เรื่องของงบประมาณ บุคลากร การจัดหา และการจัดทำคู่มือช่วยค้น ข้อเสนอแนะของห้องสมุดจำนวนมากที่สุด คือ ควรเพิ่มประมาณในการจัดซื้อโสตทัศนวัสดุ เพิ่มบุคลากรให้เพียงพอและเหมาะสมกับงาน และควรรวบรวมรายชื่อผู้ผลิตและจำหน่ายโสตทัศนวัสดุและอุปกรณ์ เพื่อประโยชน์ในการจัดหา