Abstract:
เหาเป็นโรคติดต่อที่มีการแพร่ระบาดสูงและยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีความเป็นพิษสูง ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาครีมฆ่าเหาที่มีน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติฆ่าเหาได้แต่ล้างน้ำออกยาก ครีมที่ต้องการต้องมีคุณสมบัติล้างน้ำออกได้ดี และมีความคงตัวดีทางกายภาพ โดยศึกษาถึงผลของปริมาณน้ำมันมะพร้าว ชนิดและความเข้มข้นของสารทำให้แข็ง (stiffening agent) และสารทำอิมัลชันต่อคุณสมบัติทางกายภาพ และความคงตัวทางกายภาพของครีม การศึกษานี้พบว่าสารทำให้แข็งที่ทำให้ครีมมีลักษณะเนื้อครีม สี ความแข็ง การกระจายตัวบนผิว และการล้างน้ำออกดีที่สุด คือ ส่วนผสมของ stearyl alcohol, cetyl alcohol และ stearic acid ส่วนความเข้มข้นของสารทำให้แข็งและน้ำมันมะพร้าวขึ้นกับชนิดและความเข้มข้นของสารทำอิมัลชันที่ใช้ ตำรับที่ใช้สารทำอิมัลชันกลุ่ม TweenTM 80 ร่วมกับ SpanTM 80 10% ประกอบด้วยสารทำให้แข็ง 10% ส่วนกลุ่ม BrijTM 72 และ BrijTM 721 5.0% หรือ สารทำอิมัลชันกลุ่มพอลิเมอร์ (PemulenTM TR-1 และ TR-2) ประกอบด้วยสารทำให้แข็ง 2.5% ปริมาณน้ำมันมะพร้าวสูงที่สุดเรียงจากมากไปน้อย คือ PemulenTM TR-2 (72.5%) PemulenTM TR-1 (70.0%) SymbioTM (65.0%) BrijTM 72 ร่วมกับ BrijTM 721 (65.0%) และ TweenTM 80 ร่วมกับ SpanTM 80 (55.0%) นอกจากนี้พบว่าการใช้สารทำอิมัลชันกลุ่มสารลดแรงตึงผิวร่วมกับกลุ่มพอลิเมอร์(MontanovTM) ทำให้เกิดครีมน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณสมบัติในการล้างน้ำออกและความคงตัวทางกายภาพดีขึ้น เมื่อศึกษาความคงตัวทางกายภาพในสภาวะเร่ง พบว่ามีสูตรตำรับ 3 สูตรที่มีความคงตัวดี คือ (1) สูตรตำรับที่ประกอบด้วย BrijTM 72 ร่วมกับ BrijTM 721 สัดส่วน 1:1 5% น้ำมันมะพร้าว 65% และสารทำให้แข็ง 2.5% (2) สูตรตำรับที่ประกอบด้วย BrijTM 72 ร่วมกับ BrijTM 721 สัดส่วน 1:1 และ 1:5 2.5% และ MontanovTM 68 ร่วมกับ MontanovTM 202 2.5% น้ำมันมะพร้าว 65% และสารทำให้แข็ง 2.5% และ (3) สูตรตำรับที่ประกอบด้วย TweenTM 80 ร่วมกับ SpanTM 80 5% และ MontanovTM 68 ร่วมกับ MontanovTM 202 5% น้ำมันมะพร้าว 55% และสารทำให้แข็ง 2.5% ดังนั้นสูตรตำรับครีมฆ่าเหาที่มีน้ำมันมะพร้าวที่ควรเลือกเพื่อศึกษาต่อไป คือ สูตรตำรับที่ (1) และ (2)