Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาที่จะพยายามแสวงหาลักษณะที่คล้ายกันหรือลักษณะในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และการสิ้นสุดของรัฐบาลผสมในการเมืองไทย โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ยุคเหตุการณ์ 13 ช่วงรัฐบาล รวมทั้งการพิจารณาถึงข้อแตกต่างที่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ซึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลผสมในแต่ละช่วงรัฐบาลนั้น เป็นที่แน่นอนว่าจะมีอาจหลีกเลี่ยงรูปแบบของสภาวะการเจรจาต่อรองในระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ กับพรรคการเมืองเสียงข้างมาก หรือกับผู้นำรัฐบาลที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มักเป็นบุคคลในฝ่ายทหาร หรือมีฐานการสนับสนุนที่มิได้มาจาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัย 3 ประการ ที่จำเป็นต้องเกื้อหนุนและเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน คือ จำนวนคะแนนเสียงที่แต้ละพรรคได้รับจากผลการเลือกตั้ง ข้อจำกัดแห่งเงื่อนไขเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่แต่ละพรรคได้รับ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และระดับของความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งในด้านของความขัดแย้ง หรือการประนีประนอมระหว่างพรรคการเมืองเสียงข้างมาก กับพรรคการเมืองอื่น ๆ โดยในปัจจุบัน มีระดับของความมากน้อยต่างกันตามสภาพ เหตุการณ์ทางการเมือง นอกจากนี้ ปัจจัยจากผู้นำรัฐบาล และอิทธิพลจากภายนอกโดยเฉพาะคณะทหารมีส่วนอย่างสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลผสมในการเมืองไทย และรูปรัฐบาลผสมที่ก่อกำเนิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นรูปรัฐบาลผสมแบบมากพรรคที่มีคะแนนเสียงท่วมท้นที่มีผลต่อความยั้งยืนของรัฐบาลในอนาคต สำหรับในด้านความยั่งยืนของรัฐบาลผสมนั้น จากผลการศึกษาพบว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เป็นตัวแปรอิสระ 4 ประการ คือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม อันเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบาย และความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ อิทธิพลของกองทัพ ผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ที่มีความสำคัญกับความสามารถของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และบทบาทของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งใน 4 ปัจจัยดังกล่าวปัจจัยประการแรกและประการที่สองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะปัจจัยประการที่สองมีผลกระทบต่อรัฐบาลในยุคของประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเป็นอย่างมาก