Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาวิเคราะห์ถึงพัฒนาการและโครงสร้างของการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในลักษณะของ universal banking ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงของระยะเวลาก่อนวิกฤติเศรษฐกิจการเงินหรือ subprime financial crisis 2008 และความล้มเหลวของกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อันมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหาวิกฤติดังกล่าวซึ่งมาจากรูปแบบของการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในลักษณะของ universal banking และพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ในการนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินในลักษณะของ predatory lending ที่เป็นการเอาเปรียบ สร้างความไม่เป็นธรรมและความเสียหายให้แก่ลูกค้าผู้บริโภคโดยเฉพาะลูกค้าผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจทางการเงินค่อนข้างน้อยจนนำไปสู่ปัญหาวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินหรือ subprime financial crisis 2008 ตามมา นอกจากนั้นยังพบปัญหาการกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินที่กำกับดูแลกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินกระจัดกระจายออกไป โดยที่ไม่มีองค์กรหลักที่มีบทบาทภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะและในบางกรณีที่บทบาทภารกิจขององค์กรกำกับดูแลดังกล่าวเกิดความขัดแย้งระหว่างภารกิจในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ (bank safety & soundness) และภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงิน (financial consumer protection) รวมถึงปัญหาการผ่อนคลายการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางการขององค์กรกำกับดูแล (financial deregulation) จนก่อให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินที่แตกต่างกันของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงินที่เป็นประโยชน์ (regulatory arbitrage) ซึ่งทำลายความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมกันของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงินอื่น (level playing field) และกลไกการคุ้มครองลูกค้าผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่าในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันนี้มีรูปแบบและพัฒนาการของการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในลักษณะของ universal banking และกลไกการคุ้มครองลูกค้าผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินที่มีความสอดคล้องและเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินหรือ subprime financial crisis 2008 ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงควรมีการสังเคราะห์เพื่อปรับปรุงกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินตามบทเรียนและประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวข้างต้นทั้ง 3 ด้านพร้อมกันคือด้านของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจ ด้านกฎหมายและองค์กรกำกับดูแลและด้านลูกค้าผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินแก่ลูกค้าผู้บริโภค (financial literacy) ก็จะสามารถเป็นกลไก การคุ้มครองลูกค้าผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า (consumer confidence) และความมั่นคงของระบบตลาดการเงิน (market confidence) ภายใต้สภาพการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในลักษณะของ universal banking และสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจการเงินของประเทศไทย