Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบและกลวิธีการแปลชื่อเรื่องของงานวรรณกรรมเยอรมันที่แปลเป็นไทยจำนวน 215 ชื่อเรื่อง ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ.2522-2555 ผลการวิจัยในขั้นแรกแสดงให้เห็นว่า ผู้แปลชาวไทยนิยมใช้กลวิธีการแปลทั้งหมด 6 รูปแบบ ซึ่งเรียงลำดับตามข้อมูลที่พบ ได้แก่ การแปลตรงคำหรือตามตัวอักษร การแปลโดยการตั้งชื่อใหม่ การแปลโดยยึดคำเดิมบางส่วนและเพิ่มเติมบางส่วนตามเนื้อเรื่องหรือตัวละคร การแปลทับศัพท์หรือถ่ายเสียง การแปลโดยตัดทอนชื่อเดิมบางส่วนและการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วถ่ายเสียงเป็นภาษาไทย ในการวิเคราะห์ชื่อเรื่องแปลขั้นต่อไป ผู้วิจัยใช้แนวทางการแปลแบบซื่อตรงต่อหน้าที่ในการสื่อสารของคริสติอาเน นอร์ด กับทฤษฎีสโคพอส ของแฟร์เมียร์ พบว่า กลวิธีการแปลที่ถ่ายทอดและรักษาหน้าที่ในการสื่อสารของตัวบทได้ครบถ้วนและซื่อตรงต่อตัวบทต้นทางและผู้ประพันธ์ อีกทั้งแสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคการใช้วรรณศิลป์ของผู้แปลชาวไทยได้แก่ การแปลโดยการตั้งชื่อใหม่ การแปลโดยยึดคำเดิมบางส่วนและเพิ่มเติมบางส่วนตาม เนื้อเรื่องหรือตัวละคร และการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วถ่ายเสียงเป็นภาษาไทย ส่วนกลวิธีการแปลตรงคำหรือตามตัวอักษร การแปลทับศัพท์หรือถ่ายเสียง และการแปลโดยตัดทอนชื่อเดิมบางส่วนไม่สามารถถ่ายทอดหน้าที่ในการสื่อสารชื่อเรื่องภาษาเยอรมันมาไว้ในชื่อเรื่องแปลเป็นไทยได้ทั้งหมด จากผลของการวิจัยทำให้ได้ข้อสรุปว่า หากผู้แปลชาวไทยใช้ทฤษฎีสโคพอสและ แนวทางการแปลของนอร์ดในการวิเคราะห์และจำแนกหน้าที่ในการสื่อสารของตัวบทต้นทางก่อนการแปล จะทำให้การแปลมีคุณภาพและได้ผลลัพธ์ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์และ ตรงกับความต้องการของผู้อ่าน