Abstract:
ทมยันตีเป็นนักเขียนที่มีความเป็นชาตินิยมสูง นวนิยายของเธอไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คู่กรรม (2512), อตีตา (2539), กษัตริยา (2545), แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน (2546), หรือ อธิราชา (2546) ล้วนแล้วแต่นำเสนอตัวละครที่มีความรักชาติอย่างแรงกล้า และถึงแม้ว่าจะใช้กลวิธีแตกต่างกันและประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน แต่ตัวละคนเหล่านี้ล้วนมีความพยายามในการปกป้องชาติจากการรุกรานจากภายนอกเหมือนกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ความเป็นสตรีนิยมของทมยันตียังทำให้เธอเลือกที่จะกำหนดให้ตัวละครเหล่านี้หลายตัวเป็นผู้หญิงที่ดูเหมือนจะสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทที่เด่นชัดในขบวนการชาตินิยมได้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าชาตินิยมที่ทมยันตีนำเสนอในนวนิยายของเธอโดยเฉพาะในเรื่อง คู่กรรม นั้น ตั้งอยู่บนรากฐานของความสัมพันธ์ภายในครอบครัวตามแบบทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งในที่สุดกลับบ่อนทำลายบทบาทของผู้หญิงในขบวนการชาตินิยม ดังนั้นถึงแม้ว่าทมยันตีจะพยายามนำเสนอตัวละครหญิงที่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวละครเหล่านั้นกลับไม่สามารถก้าวข้ามบทบาทที่เป็นรองของคนเองในวาทกรรมชาตินิยมได้