Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดค่าดัชนีคุณภาพชีวิต ศึกษาถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อค่าดัชนีคุณภาพชีวิต วิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชากรในเขตควบคุมมลพิษของประเทศไทย โดยเน้นการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลัก ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ พบตัวจากกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติเป็นหัวหน้าครัวเรือนและอาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ใน 3 พื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จำนวนทั้งหมด 580 คน โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ คือ การทดสอบแบบไคสแควร์ ส่วนสถิติที่ใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกับความพึงพอใจโดยรวมต่อคุณภาพชีวิตในปัจจุบันและนำมาคำนวณเป็นค่าดัชนีคุณภาพชีวิต คือ การวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างในเขตควบคุมมลพิษ 3 พื้นที่ มีปัจจัยด้านวัตถุวิสัยที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบด้วย สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม สภาพแวดล้อม และสุขภาพอนามัย จึงทำให้มีความพึงพอใจต่อปัจจัยด้านจิตวิสัย 5 ด้านหลักแตกต่างกัน ซึ่งได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสภาพแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัย และมีความพึงพอใจโดยรวมต่อคุณภาพชีวิตในปัจจุบันแตกต่างกัน ทั้งนี้จึงมีผลให้มีค่าดัชนีคุณภาพชีวิตของประชากรในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีค่าดัชนีคุณภาพชีวิตสูงกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งมีค่าเท่ากับ 80.0 (จากคะแนนเต็ม 100.0) หมายความว่ามีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีค่าดัชนีคุณภาพชีวิต เท่ากับ 76.7 และกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีค่าดัชนีคุณภาพชีวิต เท่ากับ 75.1 ตามลำดับ แต่ถือว่ายังคงมีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ปานกลางเช่นกัน จากข้อค้นพบ พอสรุปได้ว่า ปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชากรในเขตควบคุมมลพิษให้สูงขึ้น คือ ปัจจัยด้านสุขภาพอนามัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องปรับปรุงการให้บริการของสถานพยาบาลในพื้นที่ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น จัดให้มีบริการดูแลและตรวจสุขภาพแก่คนในชุมชนอย่างทั่วถึง รณรงค์ต่อต้านไม่ให้ดื่มสุราและเสพยาเสพติด อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะแก่คนในชุมชน และสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อตั้งสถานีพยาบาลใกล้แหล่งชุมชน