Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “แบบแผนและกลวิธีการพากย์ - เจรจาโขนของกรมศิลปากร” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์แบบแผนวิธีการพากย์-เจรจาโขน ตลอดจนศึกษากลวิธีในการพากย์ - เจรจาโขนของกรมศิลปากรที่สืบทอดจากกรมมหรสพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน โดยพิจารณาวิเคราะห์จากบทโขน วิดิทัศน์บันทึกการแสดงโขน สัมภาษณ์ผู้ร่วมงาน และประสบการณ์ตรงของผู้วิจัย ทั้งนี้ผู้วิจัยแบ่งการศึกษาและวิเคราะห์ออกเป็น ๒ ส่วน คือ แบบแผนการพากย์ - เจรจาโขน และ กลวิธีการพากย์ - เจรจาโขน โดยใช้ทฤษฎีและแนวคิดทางด้านคีตศิลป์ และสังคีตศิลป์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงที่สัมพันธ์กัน ผลการศึกษาพบว่า ประเภทของการพากย์มิได้แบ่งตามเนื้อหาบทพากย์ที่ได้แบ่งไว้แต่เดิม แต่แบ่งตามทำนองในการพากย์ คือ ทำนองปกติ หรือ พากย์เดินทำนอง ทำนองเพลงชมดง ในหรือพากย์ชมดง และทำนองเพลงโอ้ปี่ใน หรือ พากย์โอ้ สำหรับการเจรจานั้น มี ๒ ประเภท คือ เจรจาด้น และเจรจากระทู้ ใช้ทำนองในการเจรจา ๓ ทำนอง คือ เจรจาทำนองบรรยาย หรือ เจรจาเดินทำนอง เจรจาทำนองพูด และ เจรจากวนมุข กลวิธีในการเจรจานั้นจำเป็นต้องใส่อารมณ์ตามบริบท และอารมณ์ของตัวโขนที่แสดงในขณะนั้น เพื่อสร้างอรรถรสให้กับผู้ชม ทั้งการพากย์และการเจรจาโขนนับเป็น “หัวใจสำคัญของการแสดงโขน” ซึ่งแสดงถึงปรีชาญาณของ ผู้พากย์-เจรจาโขนได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ผู้พากย์-เจรจาเป็นผู้มีความรู้ทางด้านคีตศิลป์ สังคีตศิลป์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี อีกทั้งเป็นผู้สร้างบทโขน เป็นผู้ควบคุมการแสดง ทั้งยังแสดงถึงทักษะองค์ความรู้ผ่านการพากย์ - เจรจาโขน และเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบ รวมถึงกระบวนการถ่ายทอดของครูพากย์ – เจรจาโขนของกรมศิลปากร นอกจากนี้แล้วยังแสดงให้เห็นว่า ผู้พากย์-เจรจาโขนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการแสดงโขนทั้งก่อนการแสดง ขณะแสดง และหลังการแสดง