Abstract:
การศึกษาความชุกของการติดปรสิตในเลือดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานรวมจำนวน 112 ตัว ในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 เก็บตัวอย่างจากพื้นที่ 3 แห่งของโครงการ อพ.สธ. ได้แก่ 1) พื้นที่ศึกษาวิจัยบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี 2) เขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี และ 3) เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจปรสิตในเลือดโดยทำแผ่นฟิมล์เลือดบนกระจกสไลด์ ย้อมด้วยสียิมซ่า และนำมาตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การศึกษาปรสิตในเลือดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 47 ตัว ซึ่งจับจาก 2 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่ศึกษาวิจัยบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ จำนวน 24 ตัว (6 ชนิด) และจากเขาวังเขมร จำนวน 23 ตัว (6 ชนิด) พบว่า สัตว์มีการติดปรสิตในเลือด 12 ตัว มีความชุกเท่ากับ 25.5%) สัตว์ที่ติดปรสิตมี 4 ชนิด ได้แก่ กบหนอง (Fejervarya limnocharis) อึ่งหลังจุด (Micryletta inornata) อึ่งขาคำ (Microhyla pulchra) และอึ่งน้ำเต้า (Microhyla ormata) ปรสิตที่พบจำแนกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ Aegyptianella sp., Hepatozoon sp., Trypanosoma chattoni, Trypanosoma sp. 1, Trypanosoma sp. 2 และ Dactylosoma ranarum โดยกบหนองซึ่งเป็นชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำที่จับได้จากเขาวังเขมรมีการติดปรสิตสูงกว่าชนิดอื่นๆ ซึ่งอาศัยอยู่บนบก การศึกษาปรสิตในเลือดของสัตว์เลื้อยคลานจำนวน 65 ตัว ซึ่งจับจาก 3 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่ศึกษาวิจัยบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณจำนวน 7 ตัว (3 ชนิด) จากเขาวังเขมรจำนวน 12 ตัว (1 ชนิด) และจากเกาะทะลุจำนวน 46 ตัว (7 ชนิด) พบว่า สัตว์มีการติดปรสิตในเลือด 18 ตัว มีความชุกเท่ากับ 27.7% ปรสิตที่พบจำแนกเป็น haemogregarines และ rickettsia-like organisms โดย haemogregarines พบในกิ้งก่าบินปีกจุด (Draco maculatus) จากเขาวังเขมร และกิ้งก่าคอแดง (Calotes versicolor) จากเกาะทะลุ มีความชุกเท่ากับ 66.7% และ 36.4% ตามลำดับ ในขณะที่ rickettsia-like organisms พบในจิ้งจกดิน (Dixonius siamensis) มีความชุกเท่ากับ 28.6% การศึกษาพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อตับของกิ้งก่าบินปีกจุดที่มีการติดปรสิต haemogregarines ทำโดยเตรียมแผ่นฟิล์มเนื้อเยื่อและย้อมด้วยสี haematoxylin-eosin พบว่า ในเนื้อเยื่อตับพบบริเวณที่เกิดการอักเสบ มีการรวมกันของเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte และ eosinophil รอบๆ meronts ของ haemogregarine และเกิดการตายของเนื้อเยื่อตับ