Abstract:
การศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบของแพลงก์ตอนในพื้นที่ 2 แห่ง ณ เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ได้แก่ป่าชายเลนปลูกและชายฝั่งทะเล โดยเก็บตัวอย่างในเดือนกรกฎาคมและกันยายน พ.ศ. 2553 และมกราคม พ.ศ. 2554 เก็บตัวอย่างน้ำปริมาตร 40 ลิตร โดยกรองผ่านถุงลากแพลงก์ตอนขนาดตา 20 ไมโครเมตร รักษาสภาพตัวอย่างด้วยฟอร์มาลิน 4% แล้วนำมาจำแนกในห้องปฏิบัติการ พบว่าความหลากหลายและความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชที่พบในป่าชายเลนปลูกมีน้อยกว่าในชายฝั่งทะเล ในป่าชายเลนปลูกพบแพลงก์ตอนพืช 19 สกุล โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2,846.79 หน่วย/ลิตร และมี Gonyaulax, Thalassionema และ Pleurosigma เป็นสกุลเด่น 3 อันดับแรก ในชายฝั่งทะเลพบแพลงก์ตอนพืชจำนวน 44 สกุล มีความหนาแน่นเฉลี่ย 5,402.09 หน่วย/ลิตร สกุลเด่น 3 อันดับแรกคือ Thalassionema, Rhizosolenia และ Coscinodiscus ในทางตรงกันข้าม พบว่าแพลงก์ตอนสัตว์ในป่าชายเลนปลูกมีความหนาแน่นมากกว่าชายฝั่งทะเล โดยในป่าชายเลนปลูกมีความหนาแน่น 3,707.8 หน่วย/ลิตร กลุ่มเด่นที่พบคือโปรโตซัวสกุล Tintinnopsis และโคพีพอดวัยอ่อน ในชายฝั่งทะเลแพลงก์ตอนสัตว์มีความหนาแน่น 281.20 หน่วย/ลิตร พบโคพีพอดวัยอ่อนเป็นกลุ่มเด่น ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ เฉลี่ยของป่าชายเลนปลูกมีค่ามากกว่าบริเวณชายฝั่งทะเลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.013) จากผลการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่าป่าชายเลนปลูกที่เกาะแสมสารมีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชาคมแพลงก์ตอนเมื่อเปรียบเทียบกับชายฝั่งทะเล