Abstract:
กั้งกระดาน (วงศ์ Scyllaridae สกุล Thenus) เป็นสัตว์น้ำที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในประเทศไทย จากการศึกษาอนุกรมวิธานก่อนหน้านี้มีรายงานการพบกั้งกระดานในประเทศไทยเพียงหนึ่งสปีชีส์คือ Thenus orientalis อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทบทวนสถานะทางอนุกรมวิธานของกั้งกระดานสกุลดังกล่าวขึ้นมาใหม่ได้เสนอแนะว่า ควรจะมีกั้งกระดานในประเทศไทยอยู่ถึงสามสปีชีส์ งานวิจัยนี้จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างกั้งกระดานที่เป็นตัวเต็มวัยจากสองจังหวัดที่อยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย) ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจังหวัดเพชรบุรี (ฝั่งตะวันตก) ทำการสกัดจีโนมิกดีเอ็นเอจากขาเดินของกั้งกระดานและเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอของยีนไซโทโครมซีออกซิเดส หน่วยย่อยที่หนึ่งด้วยวิธีพีซีอาร์ จากนั้นส่งผลผลิตพีซีอาร์ที่ได้ไปอ่านลำดับดีเอ็นเอ นำลำดับดีเอ็นเอที่อ่านได้ซึ่งมีความยาว 399 คู่เบสไปจัดเรียงและสร้างแผนภูมิต้นไม้แสดงความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการด้วยวิธีมัธยัสถ์สูงสุด พบว่าสามารถจัดจำแนกกั้งกระดานที่พบออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มของ Thenus indicus 12 ตัวอย่างและกลุ่มของ T. orientalis 6 ตัวอย่าง ซึ่งผลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับลักษณะทางสัณฐานวิทยาของขาเดิน กล่าวคือ T. orientalis มีลายและจุดสีน้ำตาลปรากฏบนขาเดิน ขณะที่ T. indicus ไม่มีลวดลายหรือจุดสี บนขาเดิน ดังนั้นจึงเสนอชื่อท้องถิ่นสำหรับกั้งกระดานทั้งสองสปีชีส์ ให้เรียก T. indicus ว่า กั้งกระดานธรรมดา ขณะที่เรียก T. orientalis ว่า กั้งกระดานขาลาย ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นความรู้สำคัญในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากกั้งกระดานอย่างยั่งยืนต่อไป