Abstract:
แย้เป็นสัตว์เลื้อยคลานรูปร่างคล้ายกิ้งก่า ที่มีความสำคัญทั้งด้านการเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของคน โดยเฉพาะทางภาคอีสานของประเทศไทย และด้านการเป็นผู้ควบคุมประชากรของแมลงในระบบนิเวศ แต่ในปัจจุบันประชากรแย้ที่พบในธรรมชาติของประเทศไทยมีจำนวนลดลงไปมาก การเพาะเลี้ยงแย้เพื่อการอนุรักษ์จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาขนาดประชากรแย้ไว้ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลด้านชีววิทยาการสืบพันธุ์ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวงสืบพันธุ์ของแย้ Leiolepis belliana belliana โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัว (gonado-somatic index, GSI) การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในแต่ละช่วงฤดูกาล และการสร้างฮอร์โมนเพศในช่วงฤดูสืบพันธุ์ โดยเก็บตัวอย่างแย้ จากภาคสนามในจังหวัดชลบุรี ในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม 2552-เมษายน และพฤศจิกายน 2553) และฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม 2553) ให้ได้ตัวอย่างแย้ฤดูกาลละ 4-10 ตัว/เพศ แล้วผ่าตัดเก็บอัณฑะและรังไข่มาชั่งน้ำหนักเพื่อนำมาคำนวณหา GSI และวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับฤดูกาล พบว่าในแย้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีค่า GSI สูงสุด ในเดือนธันวาคม (ต้นฤดูแล้ง) ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงเวลาดังกล่าว และมีค่า GSI อยู่ในเกณฑ์ต่ำในช่วงเวลาอื่นของปี เมื่อนำตัวอย่างอัณฑะและรังไข่ไปผ่านขั้นตอน paraffin method และย้อมสี hematoxylin and eosin เพื่อเตรียมเป็นสไลด์ถาวรสำหรับศึกษาโครงสร้างจุลกายวิภาคของเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง และนำตัวอย่างไปผ่านขั้นตอนทาง histochemistry เพื่อตรวจสอบการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชนิดสเตียรอยด์ พบว่า ในแย้เพศผู้ ช่วงที่มีค่า GSI สูงสุดจะพบการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่สมบูรณ์จนพบเซลล์อสุจิจำนวนมากภายในอัณฑะ ซึ่งสอดคล้องกับการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชนิดสเตียรอยด์ ในขณะที่ช่วงที่มีค่า GSI ต่ำ จะยังไม่พบเซลล์อสุจิโดยจะเริ่มพบ spermatogenic cell ระยะต่าง ๆ ในอัณฑะซึ่งแสดงถึงการเริ่มสร้างเซลล์สืบพันธุ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ส่วนแย้เพศเมีย ช่วงที่มีค่า GSI สูงสุดเกิดขึ้นสอดคล้องกับการเจริญเต็มที่ของฟอลลิเคิล จากนั้นจะพบว่า GSI มีค่าลดต่ำลงอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงการตกไข่ โดยสามารถตรวจพบ corpus luteum ภายในรังไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ข้อมูลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แย้ Leiolepis belliana belliana ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีการสืบพันธุ์เป็นฤดูกาล โดยเพศผู้และเพศเมียมีการเจริญของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์สูงสุดในช่วงต้นฤดูแล้ง และคาดว่าจะมีการผสมพันธุ์และตกไข่ในช่วงเวลาต่อมา และจากนั้นจะมีการเจริญของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ต่ำสุดในช่วงฤดูฝน