Abstract:
ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะในเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีความพยายามในการหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้ หนึ่งในสารที่มีการวิจัยกันอย่างกว้างขวาง คือ เปปไทด์ต้านจุลชีพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด เปปไทด์ต้านจุลชีพพบได้ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่มีรายงานพบมากในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยเฉพาะในกลุ่มกบ งานวิจัยนี้มุ่งค้นหายีนที่กำหนดการสร้างเปปไทด์ต้านจุลชีพ จากกบหลังไพล (Rana lateralis) เพื่อจะสามารถทำนายลำดับของเปปไทด์ที่ได้ และประเมินความเป็นไปได้ในการใช้เปปไทด์ที่ค้นพบในการบำบัดรักษาโรคติดเชื้อ ผลการทดลองพบว่า เปปไทด์ RQ1 ซึ่งมีลำดับกรดอะมิโน ILPLLAGLVHGLSSIFGK ประจุสุทธิ +2 ความยาว 18 กรดอะมิโน ซึ่งอาจจัดไว้ในกลุ่ม Temporins มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเชื้อแกรมบวกได้ดีกว่าแกรมลบ (MIC สำหรับเชื้อ Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus มีค่าเท่ากับ 25 µM และ 50 µM ตามลำดับ) แต่ยังมีค่าความเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงสูง (HC50 = 60 µM) ดังนั้น การนำมาพัฒนาต่อเป็นยา อาจจำเป็นต้องมีดัดแปลงลำดับของกรดอะมิโนก่อนนำไปใช้