Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีศิลปะเป็นสื่อ ต่อ ปัญญา การยอมรับ และ ภาวะซึมเศร้า ของบุคคลภายหลังการรักษาโรคมะเร็งงาน วิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental Research Design) เป็นการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลภายหลังการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 113 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีศิลปะเป็นสื่อ 38 คน กลุ่มศิลปะบำบัด 34 คน และกลุ่มควบคุม 41 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ในระยะดำเนินการวิจัย กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีศิลปะเป็นสื่อและกลุ่มศิลปะบำบัด รวมทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมดตอบแบบวัดปัญญา แบบวัดการยอมรับและแบบวัดภาวะซึมเศร้า ในช่วงก่อนและหลังการวิจัย มีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบมีการวัดซ้ำ (Repeated Measures Multivariate Analysis of Variance: Repeated Measures MANOVA) ในการเปรียบเทียบคะแนนปัญญา การยอมรับและภาวะซึมเศร้า ก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบระหว่างกลุ่ม (Between-group MANOVA) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ผลพบว่า ในช่วงหลังการทดลองกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีศิลปะเป็นสื่อมีความแตกต่างของคะแนนปัญญา การยอมรับ และภาวะซึมเศร้ากว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนตัวแปรที่ศึกษาหลังการทดลองระหว่างกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีศิลปะ กลุ่มศิลปะบำบัด กลุ่มควบคุมพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ .001 และ .05