Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประวัติความเป็นมาและสภาพปัจจุบันของการแสดงวงโปงลาง และ (2) พัฒนารูปแบบแนวความคิดในการสร้างสรรค์นาฏประดิษฐ์อีสานในวงโปงลาง การศึกษาใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ประกอบด้วยวิธีการวิจัย คือ การวิเคราะห์เนื้อหา การศึกษาข้อมูลภาคสนาม การสัมภาษณ์ การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม (Focus group research) ผลการศึกษาพบว่า ประวัติความเป็นมาของการแสดงวงโปงลางแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ พัฒนาการระยะที่ 1 (ก่อนพ.ศ.2511) วงโปงลางเกิดขึ้นในสังคมอีสานเมื่อราวต้นทศวรรษที่ 2510 ก่อนหน้านั้นเป็นแต่เพียงการนำเอาเครื่องดนตรีพื้นฐานคือ พิณ แคน ซอ กลอง และเครื่องประกอบจังหวะต่างๆ มาประสมวง เล่นเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจภายในท้องถิ่น ยังไม่เป็นรูปแบบชัดเจนดังที่เห็นในปัจจุบัน ในระยะนี้ยังไม่มีการฟ้อนรำประกอบ พัฒนาการระยะที่ 2 (ก่อนพ.ศ.2511-2518) มีการรวมตัวของนักดนตรีพื้นบ้านตั้งเป็นวงโปงลางที่มีการแสดงนาฏยศิลป์ประกอบ มีการเผยแพร่สู่ภายนอกผ่านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้วงโปงลางเป็นที่รู้จักมากขึ้น พัฒนาการระยะที่ 3 (พ.ศ.2519-2540) เกิดวงโปงลางของสถาบันการศึกษาในภาคอีสาน และเริ่มมีการเรียนการสอนนาฏยศิลป์อีสานในระดับอุดมศึกษา สภาพปัจจุบันของวงโปงลาง พบว่าวงโปงลางของชาวบ้านเสื่อมความนิยมลง ซึ่งแตกต่างจากวงโปงลางในสถาบันการศึกษาที่เกิดการสร้างสรรค์ชุดการแสดงใหม่มากขึ้น มีการจัดการแข่งขันประกวดวงโปงลางอย่างแพร่หลาย รูปแบบแนวความคิดการสร้างสรรค์นาฏยประดิษฐ์อีสานในวงโปงลางมีลักษณะเป็นวงจรชีวิต (Life cycle) และมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอีสาน เป็นตัวกำหนดขอบเขตของกระบวนการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของการแสดงในวงโปงลาง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย (1) ระยะก่อนการสร้างงาน (Pre-production stage) (2) ระยะการสร้างงาน (Production) (3) ระยะหลังการสร้างงาน (Post-production stage) โดยในแต่ละระยะประกอบด้วยส่วนที่เป็นหลักการ (Principle) และส่วนที่เป็นการปฏิบัติ (Practice) ดังนี้ ระยะก่อนการสร้างงาน (Pre-production stage) เป็นระยะของการการออกแบบนาฏยศิลป์ (Design) มีองค์ประกอบหลัก คือ การกำหนดเป้าหมายของการแสดง ที่มีผลทำให้การออกแบบนาฏยศิลป์อีสานในวงโปงลางแต่ละครั้งแตกต่างกัน มีกระบวนการ 3 ส่วนที่สัมพันธ์คือ (1) การค้นคว้าข้อมูลเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (2) การกำหนดแนวคิดหลักของการแสดง (Theme) (3) การกำหนดรูปแบบการแสดง (Style) ในการออกแบบนาฏยศิลป์นี้ยังมีเงื่อนไขภายในและภายนอกกำกับ ระยะการสร้างงาน (Production) เป็นระยะของการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนา (Development) ให้เกิดนาฏยศิลป์ตามที่ได้ออกแบบไว้ มีองค์ประกอบหลัก คือ (1) การวางโครงสร้างของการแสดง (2) การออกแบบร่าง (3) การพัฒนาองค์ประกอบการแสดง (4) การฝึกซ้อม (5) การแสดงจริง ซึ่งในการพัฒนางานนาฏยศิลป์นี้ยังมีเงื่อนไขภายในและภายนอกกำกับ ระยะหลังการสร้างงาน (Post-production stage) เป็นระยะของประเมินและการปรับปรุงแก้ไข (Evaluation & Elaboration stage) ก่อนนำนาฏยศิลป์นั้นไปแสดงอีกครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนการที่เกิดหลังจากการแสดงสิ้นสุดลง ประกอบด้วย (1) การประเมินผลตามเกณฑ์ (2) การปรับปรุงแก้ไข (3) การตัดสินใจนำไปแสดงอีกครั้ง (Re-stage) โดยการประเมินนั้นแบ่งออกเป็น การประเมินภายใน(Internal Evaluation) การประเมินภายนอก (External Evaluation)