Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “นาฏยลักษณ์ของนางโขน” มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์นาฏยลักษณ์ของตัวนางในการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ โดยมุ่งเน้นบทบาทนางโขนที่เป็นตัวเอกของเรื่องและของตอน รวมทั้งวิเคราะห์บริบททางสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนาฏยลักษณ์ของตัวนางโขน โดยใช้แนวคิดเรื่องสตรีตามคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย และทฤษฎีนาฏยศาสตร์ของพระภรตมุนี มาเป็นหลักในการวิเคราะห์เพื่อแสวงหานาฏยลักษณ์ของนางโขน ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีดำเนินการวิจัยหลักได้แก่ การค้นคว้าข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ การเข้าร่วมสัมมนา และการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงโขน ที่จัดโดยกรมศิลปากรและหน่วยงานอื่นๆ การเข้ารับชมและการถ่ายทอดบทบาทนางโขนจากศิลปินต้นแบบ จากนั้นได้วิเคราะห์นาฏยลักษณ์ของนางโขนรวมทั้งนางโขนในบริบททางสังคมเป็นรูปเล่มวิทยานิพนธ์ และเผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์ในรูปแบบของบทความวิจัยในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ ผลการวิจัยพบว่า นางโขน หมายถึงบทบาทของเพศหญิงในการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ของไทย ซึ่งได้อิทธิพลมาจากบทบาทของสตรีในรามายณะของอินเดีย แบ่งตามชาติกำเนิดได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ นางฟ้า นางมนุษย์ นางอมนุษย์ นางยักษ์ และนางลูกครึ่ง เมื่อพิจารณาจากปัจจัยจำนวน 5 ด้าน ได้แก่ รูปพรรณสัณฐาน บุคลิกภาพ ลีลาท่ารำ การแสดงอารมณ์ และพลังในการแสดง พบว่า สามารถแบ่งนาฏยลักษณ์ของนางโขนออกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มนางโขนที่รำแบบนางมนุษย์ กลุ่มนางโขนที่รำแบบ นางมนุษย์และนางยักษ์ และกลุ่มนางโขนที่รำแบบนางมนุษย์และสัตว์ ซึ่งแต่ละกลุ่มใช้แม่ท่าและท่ารำทางด้านนาฏยศิลป์ไทยตามบทบาทในการดำเนินเรื่อง นาฏยลักษณ์ของนางโขนในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากนางละคร ด้วยเหตุแห่งการใช้ผู้หญิงแสดงบทบาทนางโขนแทนผู้ชายแบบดั้งเดิม รวมทั้งมีการบรรจุบทร้องและท่ารำตามแบบแผนละครเข้ามาผสมผสาน ทำให้นาฏยลักษณ์ของนางโขนมีความแตกต่างไปจากการแสดงโขนแบบโบราณ บริบททางสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อการแสดงบทบาทนางโขนที่ชัดเจนที่สุดคือ จารีตประเพณีแห่งราชสำนักไทย เนื่องจากการแสดงโขนเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งอิทธิพลในด้านแบบแผนการแสดงที่เกี่ยวข้องกับบทบาทนางโขน ในด้านสัญลักษณ์แทนคุณธรรมจริยธรรม บทบาทนางโขนตัวสำคัญเป็นเครื่องสะท้อนความดี – ความชั่ว และคุณธรรมจริยธรรมที่ต้องการจะส่งสารให้ผู้ชมโขนได้ตระหนักผ่านสุนทรียรสในขณะชมการแสดงโขนไปพร้อมกัน