Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ศึกษาแนวความคิดและรูปแบบในการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยเรื่องพระลอของ นราพงษ์ จรัสศรี ซึ่งจัดแสดงเป็นกิจกรรมการละครของโรงเรียนแม่พระฟาติมา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน อาจารย์และผู้ปกครองร่วมกันทำกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย จากการศึกษาพบว่า ผลงานเรื่องนี้มีแนวความคิดในการรักษาแก่นและคุณค่าของวรรณคดีลิลิตพระลอ ผ่านวัฒนธรรมการแสดงโดยใช้แนวความคิดเชิงสัญลักษณ์และทฤษฎีทางทัศนศิลป์ผสมผสานกับนาฏยศิลป์ เพื่อสร้างสรรค์การแสดงที่เหมาะสมกับเยาวชน ตามองค์ประกอบการแสดงที่สำคัญ ได้แก่ 1) บทการแสดง สื่อความรักตามแก่นของเรื่องลิลิตพระลอ และการลดทอนความรุนแรงของบทเพื่อการสื่อสารกับเยาวชน 2) ลีลาการแสดง มีรูปแบบที่เป็นธรรมชาติ ไม่ซับซ้อนแต่สื่อความหมายชัดเจน 3) เครื่องแต่งกาย คำนึงถึงความเหมาะสมของท้องเรื่องและบทบาทของตัวละคร 4) ดนตรีและเสียง ใช้ดนตรีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นตามเนื้อเรื่อง ได้แก่ ดนตรีล้านนา การจ๊อย การเอื้อนเสียงกล่อมลูก และการอ่านบทด้วยน้ำเสียงเรียบ เพื่อสื่อความไพเราะของบทประพันธ์ 5) ฉากและอุปกรณ์การแสดง ใช้ผู้แสดงเป็นฉากและนำวัสดุอุปกรณ์ที่สื่อความเป็นท้องถิ่นล้านนามาใช้ โดยใช้แนวความคิดเชิงสัญลักษณ์ในการสื่อความหมายที่เข้าใจง่าย 6) พื้นที่การแสดง นำความรู้ด้านองค์ประกอบของภาพ และความสำคัญของตำแหน่งตัวละครมาใช้ในการออกแบบ ทำให้การแสดงมีเอกภาพ มีความหลากหลาย และเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน 7) แสง เน้นแสงที่เป็นธรรมชาติ เพื่อสร้างอารมณ์และบรรยากาศของการแสดง 8) นักแสดง ใช้นักแสดงที่มีทักษะ ความสามารถ เหมาะสมกับวัยและบทบาทที่ได้รับ แนวความคิดซึ่งถ่ายทอดผ่านการแสดงดังกล่าวทำให้สามารถรักษาแก่นและคุณค่าของวรรณคดีลิลิตพระลอ ที่สามารถสื่อสารกับเยาวชนได้ดี