Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนาฏยลักษณ์ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา นาฏยลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พัฒนาการของนาฏยศิลป์ไทย และเปรียบเทียบความแตกต่างในแต่ละยุคสมัย และศึกษาวิเคราะห์ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างนาฏยศิลป์ไทยกับบริบททางศาสนา สังคม และวัฒนธรรม โดยได้ตั้งสมมุติฐานงานวิจัยว่านาฏยลักษณ์ที่ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย และปรากฏท่ารำที่สูญหายไปรวมถึงท่ารำที่ไม่พบว่ามีการบันทึกในภาพตำราฟ้อนรำแม่บทมาก่อน นาฏยลักษณ์ และนาฏยศิลป์ไทยมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาทางพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีขอบเขตศึกษาเฉพาะนาฏยลักษณ์ที่ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ ที่บ่งบอกถึงลักษณะของนาฏยศิลป์ไทยอย่างชัดเจน จำนวน 12 เล่ม ที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี จากการศึกษาสมุดภาพไตรภูมิทั้ง 12 เล่ม เป็นสมัยอยุธยาจำนวน 5 เล่ม ปรากฏภาพนาฏยลักษณ์ในสมัยอยุธยาจำนวน 136 ภาพ สมัยธนบุรีจำนวน 2 เล่ม ปรากฏภาพนาฏยลักษณ์จำนวน 68 ภาพ และสมัยรัตนโกสินทร์จำนวน 5 เล่ม ปรากฏภาพนาฏยลักษณ์จำนวน 40 ภาพ จำนวนภาพที่แสดงนาฏยลักษณ์ปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นต่าง ๆ พุทธประวัติ ป่าหิมพานต์ และทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชั้นกามภูมิ ไม่ปรากฏภาพนาฏยลักษณ์ในชั้นนิพพาน อรูปพรหม และชั้นที่เป็นนรก งานนาฏยศิลป์ไปปรากฏในงานจิตรกรรมส่วนใหญ่นิยมสื่อออกมาเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือเพื่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ ไม่นิยมนำภาพนาฏยลักษณ์มาใช้สื่อในภพภูมินรก ท่าที่พบมากที่สุดคือท่าเทพพนม อาจใช้เป็นสื่อเพื่อแสดงความเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และท่าเหาะเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ว่าสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นการเดินทางของเหล่าเทพเทวดาทั้งหลาย นอกจากนั้นยังพบท่าเฉิดฉิน ท่าตระเวนเวหา ท่ากลางอัมพร ท่าบัวชูฝัก ปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากเช่นกัน สันนิษฐานว่าท่าเหล่านี้สามารถเข้าใจความหมายของการแสดงท่าออกมาได้อย่างชัดเจน เป็นท่าที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงาม ความยินดี ความรื่นเริง ดังนั้นจึงพบนาฏยลักษณ์เหล่านี้มากเช่นกัน และปรากฏภาพท่ารำที่สูญหายไปรวมถึงท่ารำที่ไม่พบว่ามีการบันทึกในภาพตำราฟ้อนรำแม่บทมาก่อนจำนวน 13 ท่า นาฏยลักษณ์ที่ปรากฏมีโครงสร้างของท่ารำ ลำตัว การใช้มือ เท้าแบบนาฏยศิลป์ไทยอย่างชัดเจน ลักษณะมือเป็นการตั้งวงไม่ปรากฏว่ามีการใช้มือจีบ รูปแบบการจัดวางภาพ และเนื้อหาเรื่องราวมีความเหมือนกันทุกยุคสมัย แต่ลักษณะระดับของการใช้มือ และเท้า ขนาดรูปร่าง เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการแสดงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย