Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งศึกษาประวัติ พัฒนาการ ลักษณะของวงปี่ชวากลองแขกประกอบการชกมวยในจังหวัดชลบุรี รวมถึงการปรับตัวของนักดนตรีในวงปี่ชวากลองแขกเพื่อความอยู่รอด พบว่าปัจจุบันวงปี่ชวากลองแขกประกอบการชกมวยในจังหวัดชลบุรี มีบรรเลงทั้งสนามมวยชั่วคราวและสนามมวยมาตรฐาน นักดนตรีในวงปี่ชวากลองแขกไม่ปรากฏสายการสืบทอดที่ชัดเจน นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ รวมถึงคนปี่ซึ่งส่วนใหญ่ฝึกหัดเรียนรู้ด้วยตนเองและสืบทอดความรู้ต่อกันมา ส่งผลให้วงปี่ชวากลองแขกประกอบการชกมวยในจังหวัดชลบุรี ไม่มีแบบแผนการบรรเลงที่เคร่งครัด และประสมวงโดยการรวมตัวของนักดนตรีจากวงต่างๆ มีวงปี่ชวากลองแขกที่รับบรรเลงเป็นประจำในสนามมวยชั่วคราว คือวงเจริญศิลป์ ส่วนสนามมวยมาตรฐาน 2 แห่งคือสนามมวยแฟร์เท็กซ์ เทพประสิทธิ์ พัทยาใต้ และสนามมวยหน้าเมืองจำลอง พัทยาเหนือ (Pattaya Boxing World) มีวงจรัญศิลป์บรรเลงประจำ ปัญหารายได้และการจัดการแข่งขันการชกมวยในเชิงธุรกิจซึ่งมีคู่ชกมวยมากขึ้นทำให้นักดนตรีในวงปี่ชวากลองแขกต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งจำนวนเครื่องดนตรี ผู้บรรเลง และบทเพลง กล่าวคือเครื่องดนตรีในวงแต่เดิมประกอบด้วย ปี่ 1 เลา ฉิ่ง 1คู่ กลองแขก 1 คู่ ก็ปรับลดกลองแขกเหลือ 1 ลูกตามจำนวนคนตีกลองแขกที่เหลือเพียง 1 คน ส่วนการบรรเลงบทเพลงประกอบการชกมวย แม้ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมคือใช้เพลงสรหม่า ประกอบการไหว้ครู ยกที่1บรรเลงเพลงแขกเจ้าเซ็น ยกที่ 5 บรรเลงเชิดช่วง 1 นาทีสุดท้ายก่อนหมดยก แต่ยกที่ 2 ถึง ยกที่ 5 สามารถบรรเลงเพลงอื่นๆได้ขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบของนักดนตรีในการนำเพลงที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัยมาบรรเลงเพื่อให้ผู้ชมพอใจ แต่ถ้านักมวยไม่สามารถแข่งต่อได้ให้หยุดการบรรเลงแค่ในยกนั้น