Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองศึกษาสองกลุ่มแบบวัดซ้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ 1) ความรู้สึกอยากบุหรี่และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ก่อนและหลังการทดลองของผู้ป่วยจิตเภทที่ติดบุหรี่ในกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมฯ และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ 2) ความรู้สึกอยากบุหรี่และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ระหว่างผู้ป่วยจิตเภทที่ติดบุหรี่ในกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมฯ และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่ติดบุหรี่ซึ่งรักษาแบบผู้ป่วยในของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 40 คน ได้รับการจับคู่ด้วยระดับพฤติกรรมการเสพติดนิโคติน แล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) โปรแกรมการให้คำปรึกษาที่เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมกับการออกกำลังกาย 2) แบบประเมินพฤติกรรมการเสพติดนิโคติน (FTND) 3) แบบประเมินความรู้สึกอยากบุหรี่ (TCQ-SF) และ 4) แบบประเมินความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน และเครื่องมือชุดที่ 2, 3 และ 4 มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .82, .88 และ .88 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (T-test) สถิติความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated ANOVA) และ Planed comparisons กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัย สรุปดังนี้ 1. ความรู้สึกอยากบุหรี่และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยจิตเภทที่ติดบุหรี่ในกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการให้คำปรึกษาที่เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมกับการออกกำลังกาย น้อยกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ความรู้สึกอยากบุหรี่และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยจิตเภทที่ติดบุหรี่ในกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการให้คำปรึกษาที่เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมกับการออกกำลังกาย น้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05