Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “วงดนตรีคณะหนุ่มเสียงพิณตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทของวงดนตรีลักษณะเครื่องดนตรี วิธีการบรรเลง บทบาทหน้าที่ และบทเพลงใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพจากการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงที่อาศัยอยู่ ณ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้อพยพจากเวียงจันทน์มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 นำวัฒนธรรมการบรรเลงที่มีแคนเป็นเครื่องดนตรีดำเนินทำนองหลักผสมกับพิณ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการโดยนำเครื่องดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงในปัจจุบันมีวงดนตรีในพื้นที่จำนวน 2 คณะ คือ “หนุ่มเสียงพิณ” และ “พรพระศิวะ” เครื่องดนตรีในวงประกอบด้วย แคน พิณ กลองพื้นเมือง ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ แคนที่ใช้ทำจากไม้ซาง ลิ้นเป็นโลหะ ปรากฏทั้งแคน 7 และแคน 8 หุ่นของกลองพื้นเมืองทำจากไม้มูก (ไม้จามจุรี) ขึ้นหน้ากลองด้วยหนังทั้ง 2 ด้าน เครื่องดนตรีสากลที่ใช้ได้แก่แซกโซโฟน เบส กลองใหญ่และกลองชุดชาวลาวเวียงนิยมนำวงดนตรีดังกล่าวไปบรรเลงในงานประเพณีและงานบุญ ได้แก่ ประเพณีกินดอง ประเพณีอุปสมบท ประเพณีแห่ดอกไม้ฉลองสงกรานต์ประเพณีบุญเดือนสิบสองงานลอยกระทง เป็นต้น ผลการวิจัยพบว่า คีตลักษณ์ของทำนองแคนในวงดนตรีคณะหนุ่มเสียงพิณ ส่วนใหญ่เป็นเพลงท่อนเดียว มีการซ้ำทำนองพบเพลงหลายท่อนเป็นส่วนน้อยในเพลงทั่วไปพบว่ามีการใช้กลุ่มเสียงปัญจมูลเพียง 1 กลุ่ม หากเป็นเพลงที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงจะใช้ 2 กลุ่มเสียงและใช้เสียงนอกบันไดเสียงมาร่วมตกแต่งทำนองบ้าง โดยใช้แนววิถีทำนองแบบ “ลง-ขึ้น” มากที่สุด สำนวนการดำเนินทำนองเพลงมี 6 รูปแบบหลัก คือ การทอนทำนอง การเรียงเสียงลูกตกภายในวรรคเพลงอย่างเป็นระเบียบจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูง การใช้โน้ต 3 พยางค์เสียงมาร่วมดำเนินทำนอง ซึ่งมักวางไว้ในตำแหน่งห้องเพลงเลขคู่และการใช้โน้ต 4 พยางค์เสียงต่อ 1 ห้องเพลงในตำแหน่งห้องเพลงเลขคี่ การย้ำเสียงเดิมซ้ำ ๆ กันภายใน 1 บรรทัด การไม่ใช้เสียงหลักของกลุ่มเสียงปัญจมูลได้แก่เสียงโดในการดำเนินทำนอง แต่ใช้เสียงอื่นโดยเฉพาะเสียงลา ซึ่งเป็นเสียงที่ 6 ของกลุ่มเสียง โด เร มี X ซอล ลา X มาเป็นเสียงลูกตกซึ่งแสดงถึงปรากฏการณ์ Pillar Tone และการใช้ “กลอนฝาก” ระหว่างทำนองบรรทัดหนึ่งไปอีกบรรทัดหนึ่ง