Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์เดี่ยวซอด้วงเพลงแขกมอญ สามชั้น ทางคุณครูหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และคุณครูแสวง อภัยวงศ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทและประวัติความเป็นมาของเดี่ยวซอด้วง เพลงแขกมอญ สามชั้น โครงสร้างทำนองหลักและวิเคราะห์การดำเนินทำนอง รวมถึงกลวิธีพิเศษต่าง ๆ ที่ปรากฏในเพลงเดี่ยวดังกล่าว ศึกษาทางคุณครูหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และคุณครูแสวง อภัยวงศ์ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า ซอด้วงเป็นเครื่องสีของไทย มีบทบาทเป็นผู้นำในวงเครื่องสายไทยประเภทต่าง ๆ บทเพลงที่บรรเลงมีทั้งเพลงหมู่และเพลงเดี่ยว สำหรับเพลงเดี่ยวถือเป็นบทเพลงขั้นสูงของการบรรเลงดนตรีไทย เพลงแขกมอญ สามชั้น เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่มีความสำคัญโดยเฉพาะการนำมาทำเป็นทางเดี่ยวในเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ รวมถึงซอด้วงด้วย การศึกษาเพลงแขกมอญ สามชั้น ในการเดี่ยวซอด้วงทางคุณครูหลวงไพเราะ (อุ่น ดูรยชีวิน) ซึ่งท่านเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องสีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีบทบาทสำคัญด้านเครื่องสายไทยของกรมศิลปากรและวงการดนตรีไทยอย่างกว้างขวาง และทางคุณครูแสวง อภัยวงศ์ ซึ่งท่านเป็นนักดนตรีเครื่องสายไทยในยุคต่อมามีบทบาทในเรื่องของสำนวนเพลงที่มีความโลดโผน ลักษณะร่วมของทั้ง 2 ทางได้แก่ทั้ง 2 ทางจะเน้นการยึดทำนองเดี่ยวตามโครงสร้างทำนองหลักเป็นเหนียวแน่น บางทำนองทั้ง 2 ทางใช้กลอนเพลงเดียวกัน ปรากฏการใช้กลอนแบบ “ย้ำเสียง”เหมือนกัน ถ้าเป็นทำนองหลักเดียวกัน ทั้ง 2 ทางจะเปลี่ยนแปลงทางเดี่ยวให้แตกต่างกัน กลวิธีพิเศษที่ร่วมกันได้แก่การเอื้อนทำนอง และการสะเดาะคันชัก ลักษณะเฉพาะของแต่ละทางได้แก่ เรื่องการแปรทำนอง ทางคุณครูหลวงไพเราะเสียงซอ ให้มีความพิเศษเรื่องกลอนเพลงที่เรียบ ทางคุณครูแสวง แปรทำนองโลดโผน ใช้เสียงซ้ำกันยาวทั้งบรรทัดโน้ต เรื่องกลวิธีพิเศษ ทางครูหลวงไพเราะใช้กลวิธี “การตบสาย” จำนวนน้อย และไม่ปรากฏการรูดสายเมื่อจะทำการเปลี่ยนช่วงเสียง ทางคุณครูแสวง พบกลวิธีการสีซอแบบ “การตบสาย” เป็นจำนวนมาก ปรากฏการรูดสายเมื่อเปลี่ยนช่วงเสียง เรื่องโครงสร้างเพลงทางคุณครูหลวงไพเราะเสียงซอ ท่อน 2 ทั้งเที่ยวโอดและเที่ยวพัน บรรเลงครบทั้ง 6 จังหวะหน้าทับ ทางคุณครูแสวง อภัยวงศ์ ท่อน 2 เที่ยวโอดบรรเลง 3 จังหวะหน้าทับ แต่เที่ยวพันบรรเลง 6 จังหวะหน้าทับ