Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยกำหนดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุไทย และเพื่อประมาณการมูลค่าเชิงเศรษฐกิจของการทำกิจกรรมเหล่านี้ของผู้สูงอายุไทย จำแนกกิจกรรมที่ใช้ในการศึกษาเป็นการให้บริการและดูแลสมาชิกในครัวเรือน การให้บริการชุมชน และการทำงาน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือ การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นข้อมูลหลักในการวิเคราะห์ ใช้ข้อมูลจากสำรวจการใช้เวลาของประชากรไทย พ.ศ. 2552 และสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย พ.ศ. 2552 ไตรมาส 3 ประกอบการประมาณการมูลค่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 16,373 ตัวอย่าง สำหรับการประมาณการมูลค่าของการให้บริการและดูแลสมาชิกในครัวเรือน 33,426 ตัวอย่าง การให้บริการชุมชน 24,433 ตัวอย่าง และ 34,173 ตัวอย่างสำหรับการทำงานเชิงเศรษฐกิจ ผลการศึกษาพบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 6.2 ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมใดๆเลย โดยผู้สูงอายุที่ให้บริการและดูแลสมาชิกในครัวเรือนในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ผู้สูงอายุที่มีความพร้อมและต้องการให้บริการชุมชนในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่คิดเป็นร้อยละ 39.0 การวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดแต่ละสมการใช้แบบจำลอง generalized ordered probit regression และ probit regression ในการวิเคราะห์ ในส่วนของการวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดร่วมกันของการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้วิจัยใช้ conditional mixed process (cmp) ในการประมาณค่าของแบบจำลองร่วมกัน ผลการศึกษาพบว่าเมื่อควบคุมตัวแปรอื่นให้คงที่แล้วเงื่อนไขทางสุขภาพมีความสำคัญมากในการกำหนดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุในทุกกิจกรรม ตัวแปรเพศมีอิทธิพลต่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างชนิดกันของผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากขึ้นจะทำกิจกรรมทุกกิจกรรมลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ตัวแปรการแลกเปลี่ยนด้านการเงินกับบุตร (ในปัจจัยด้านความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัว) มีอิทธิพลมากต่อระดับการให้บริการและดูแลสมาชิกในครัวเรือนของผู้สูงอายุ สำหรับตัวแปรระดับการศึกษานั้นมีอิทธิพลมากต่อระดับความพร้อมและต้องการให้บริการชุมชนของผู้สูงอายุ แรงจูงใจแบบเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (warm glow) และจำนวนช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุก็มีอิทธิพลต่อระดับความพร้อมและต้องการให้บริการชุมชนของผู้สูงอายุเช่นกัน นอกเหนือจากตัวแปรสุขภาพ เพศ และอายุตามที่กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว ระดับการศึกษายังมีอิทธิพลมากต่อการทำงานเชิงเศรษฐกิจของผู้สูงอายุด้วย ในส่วนของการประมาณการมูลค่าของการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุ ผู้วิจัยใช้วิธีจ้างคนทำงานแทน (Replacement Approach) มาปรับใช้ในงานวิจัย ผลการศึกษาพบว่ามูลค่ารวมของการการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.14 - 2.97 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) จำแนกเป็นมูลค่ารวมของกิจกรรมนอกตลาดประมาณร้อยละ 0.85 - 1.68 (การให้บริการและดูแลสมาชิกในครัวเรือนประมาณร้อยละ 0.849 - 1.679 และการให้บริการชุมชนร้อยละ 0.003 ) และมูลค่าของกิจกรรมในตลาด (ทำงาน) ร้อยละ 1.29 คำสำคัญ: ผู้สูงอายุ คุณค่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม พฤฒพลัง วิธีจ้างคนทำงานแทน