Abstract:
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมโคลีน กรดโฟลิค และวิตามินบี 12 ในอาหารไก่ไข่ต่อสมรรถภาพการผลิต คุณภาพไข่ ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีน และฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนในไข่แดง โดยแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 ใช้ไก่ไข่พันธุ์ ISA brown อายุ 44 สัปดาห์ จำนวน 840 ตัว ทำการสุ่มไก่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 6 ซ้ำๆ ละ 28 ตัว ไก่แต่ละกลุ่มจะได้รับอาหารทดลองหนึ่งชนิดจาก 5 ชนิดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ อาหารทดลองประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 อาหารพื้นฐานที่มีโคลีนตามคำแนะนำของสายพันธุ์ และกลุ่มที่ 2-5 เป็นอาหารพื้นฐานเสริมด้วยโคลีนระดับ 1,000 1,500 2,000 และ 2,500 มก./กก.อาหาร ตามลำดับ การทดลองที่ 2 ใช้ไก่ไข่พันธุ์ ISA brown อายุ 72 สัปดาห์ จำนวน 288 ตัว แบ่งออกเป็น 9 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำๆ ละ 8 ตัว ไก่แต่ละกลุ่มจะได้รับอาหารทดลองหนึ่งชนิดจาก 9 ชนิดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาหารทดลองประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 อาหารพื้นฐานที่เสริมโคลีนในระดับที่ให้ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีนในไข่แดงมีค่าสูงที่สุดจากการทดลองที่ 1 และกลุ่มที่ 2-9 อาหารพื้นฐานร่วมกับการเสริมกรดโฟลิค และวิตามินบี 12 ที่ระดับ 0×0.02 0×0.04 4×0 4×0.02 4×0.04 8×0 8×0.02 และ 8×0.04 มก./กก.อาหาร ตามลำดับ ทั้ง 2 การทดลองทำการเก็บข้อมูลสมรรถภาพการผลิตตลอดการทดลอง ขณะที่คุณภาพไข่ ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีน และฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนในไข่ ประเมิน และวิเคราะห์เมื่อสิ้นสุดการทดลอง การเสริมโคลีนทุกระดับในการทดลองที่ 1 และการเสริมโฟลิค หรือวิตามิน บี 12 รวมทั้งการเสริมวิตามินทั้ง 2 ตัวร่วมกันทุกระดับในการทดลองที่ 2 ไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการผลิตในทุกด้าน ได้แก่น้ำหนักไก่ที่เปลี่ยนแปลง อัตราการตาย ผลผลิตไข่ น้ำหนักไข่ มวลไข่ ปริมาณอาหารที่กิน อัตราการเปลี่ยนอาหาร และต้นทุนค่าอาหารต่อการผลิตไข่ 1 กิโลกรัม (P>0.05) และไม่ส่งผลต่อคุณภาพไข่ที่ตรวจวัด ได้แก่ค่าฮอกยูนิต สีไข่แดง น้ำหนักไข่แดง น้ำหนักไข่ขาว และน้ำหนักเปลือกไข่ (P>0.05) การเสริมโคลีนที่ระดับ 1,500 มก./กก.อาหาร ทำให้ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีนในไข่แดงเพิ่มสูงที่สุด (P<0.0001) และทำให้ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนลดลงต่ำสุด (P<0.0001) ในขณะที่การเสริมในระดับสูงขึ้น (2,000-2,500 มก./กก.อาหาร) ไม่สามารถเพิ่มและลดความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีนและฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนในไข่แดงได้อีก (P>0.05) ส่วนการเสริมกรดโฟลิค หรือวิตามินบี 12 และการเสริมวิตามินทั้ง 2 ตัวร่วมกันไม่สามารถเพิ่มความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีน หรือลดความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนในไข่แดงในอาหารที่เสริมโคลีน 1,500 มก./กก. ได้ (P>0.05) ผลการทดลองสรุปได้ว่า การเสริมโคลีนในอาหารที่ระดับ 1,500 มก./กก. ทำให้ความเข้มข้นของฟอสฟาทิดิลโคลีนเพิ่มขึ้นสูงสุด และทำให้ฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนลดต่ำที่สุด การเสริมกรดโฟลิค หรือวิตามินบี 12 และทั้ง 2 อย่างร่วมกันในอาหารที่เสริมโคลีนสูง 1,500 มก./กก.อาหาร ไม่สามารถเพิ่มปริมาณฟอสฟาทิดิลโคลีนได้อีก รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่