Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้เป็นการวิจัยที่ศึกษาการก่อตัวของวาระนโยบายและการกำหนดนโยบายเกษตรพันธสัญญา โดยมีวัตถุประสงค์ในการอธิบายที่มาและขั้นตอนการก่อตัวของวาระนโยบายและการกำหนดนโยบาย รวมถึงบทบาทนำในการกำหนดนโยบายของภาครัฐและเอกชน ผลการวิจัยพบว่า แผนประสานความร่วมมือสี่ภาคเพื่อพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรม (นโยบายเกษตรพันธสัญญา) มีที่มาสำคัญ 4 ประการ คือ ประการที่ 1 ความสอดคล้องของแผนพัฒนาเกษตรใน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 การผลิตเพื่อขายและกระจายผลผลิตซึ่งถูกออกแบบและร่างแผนพัฒนาฯให้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องกัน ประการที่ 2 บทบาทของรัฐในการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรตามแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้แนวคิดการพัฒนาและใช้โครงสร้างอำนาจพื้นฐานของรัฐ ประการที่ 3 การจัดตั้งคณะกรรมการ กรอ. คณะกรรมการ กชช. และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์กับ กลุ่มเทคโนแครต ประการที่ 4 กระบวนการริเริ่มผลักดันและก่อตัวของนโยบายเกิดขึ้นอยู่ในภาครัฐ ส่งผลให้รัฐมีบทบาทนำในขั้นตอนการกำหนดวาระนโยบาย ในขั้นตอนการกำหนดนโยบายปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายมี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 ลักษณะของนโยบายที่ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นเงื่อนไขในการผลิต และปัจจัยที่ 2 สถานะความได้เปรียบของภาคเอกชนในเชิงชนชั้นที่รัฐบาลส่งเสริมสังคมทุนนิยมและการพัฒนาอุตสาหกรรมและในเชิงสถาบัน ภายใต้ระบบการวางแผน เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญในการผลิตของบรรษัท ฐานะอภิสิทธิชนของนักธุรกิจในการเข้าถึงรัฐบาลและผลการตัดสินใจที่กระทบต่อผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและความสำเร็จของนโยบาย