Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะการหกล้มในผู้สูงอายุไทย และค้นหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการหกล้มในผู้สูงอายุไทย โดยใช้ข้อมูลจากโครงการ “สำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2554” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 16,625 ราย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 58.8 มีอายุเฉลี่ย 68.75 ปี จากกลุ่มตัวอย่างมีผู้สูงอายุที่เคยหกล้มสูงถึงร้อยละ 9.0 (1,490 ราย) นอกจากนี้ในกลุ่มของผู้ที่เคยหกล้ม พบว่า เคยหกล้มอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 51.5 ในการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบพหุ พบว่า ตัวแปรอิสระทั้งหมด 19 ตัวแปร สามารถร่วมกันอธิบายการแปรผันของการหกล้มในผู้สูงอายุได้ร้อยละ 6.8 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และพบว่า มีตัวแปรอิสระ 11 ตัวแปร ที่มีอิทธิพลต่อการหกล้มในผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศ อายุ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน จำนวนของโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว สุขภาพจิต ความสามารถในการมองเห็น การตรวจสุขภาพประจำปี ประเภทส้วมที่ใช้ ที่ตั้งห้องน้ำหรือห้องส้วม ระดับรายได้ และความเพียงพอของรายได้ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบพหุขั้นตอน พบว่า มีตัวแปรอิสระ 12 ตัวแปร ที่ร่วมกันอธิบายการแปรผันของการหกล้มในผู้สูงอายุได้ ร้อยละ 6.6 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 โดยสุขภาพจิต สามารถอธิบายการแปรผันของการหกล้มในผู้สูงอายุได้ดีที่สุด ร้อยละ 2.7 รองลงมาคือ จำนวนของโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ความเพียงพอของรายได้ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน การตรวจสุขภาพประจำปี ความสามารถในการมองเห็น ที่ตั้งห้องน้ำหรือห้องส้วม ประเภทส้วมที่ใช้ เพศ ระดับรายได้ ระดับการศึกษาสูงสุด และอายุ สามารถอธิบายการแปรผันของการหกล้มในผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3, 0.6, 0.4, 0.4, 0.3, 0.2, 0.2, 0.2, 0.1, 0.1 และ 0.1 ตามลำดับ