Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการแสดง ตลอดจนบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในการแสดงงานวลัยราตรี พ.ศ. 2532 ด้วยวิธีการวิจัยในเชิงคุณภาพโดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านเอกสาร (Review Data) และการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม (Field Data) ผลการวิจัยพบว่านาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในการแสดงงานวลัยราตรี พ.ศ. 2532 เป็นการสร้างสรรค์โดยใช้นาฏยศิลป์ไทยได้แก่ โนรา โขน การฟ้อนรำแบบเหนือ ผสมผสานกับการแสดงแฟชั่นโชว์โดยใช้รูปแบบของขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นการนำเสนอรูปแบบ การแสดงที่สะท้อนถึงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีที่มีความเจริญรุ่งเรืองของไทย ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และสืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยรูปแบบการแสดงประกอบด้วย บทการแสดง ลีลาและท่าทางการเคลื่อนไหว นักแสดง เครื่องแต่งกาย ดนตรีที่ใช้ในการแสดง ฉาก สถานที่ในการแสดง อุปกรณ์ประกอบการแสดง แสงที่ใช้ในการแสดง เสียงที่ใช้ในการแสดง ตลอดจนการฝึกซ้อม ซึ่งผู้วิจัยได้นำรูปแบบของการแสดงมาเป็นแนวทางศึกษาและวิเคราะห์ผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย อีกทั้งการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในการแสดงงานวลัยราตรียังมีบริบททางด้านสังคม อาทิ สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ คุณธรรมและจริยธรรม การเมืองการปกครอง เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่านาฏยศิลป์สร้างคุณค่าให้กับสังคมอีกทางหนึ่ง ตลอดจนมุ่งเน้นวิธีการสร้างสรรค์และออกแบบผลงาน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ ได้นำไปใช้ในอนาคต