Abstract:
งานวิจัยที่ผ่านมา (Prasithrathsint 1994, 1997) ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ- เกิดขึ้น “เมื่อใด” และ “ทำไม” แต่ยังไม่มีงานวิจัยข้ามสมัยที่ศึกษาพัฒนาการทางด้านวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ของตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ- ว่าพัฒนาหน้าที่ทางไวยากรณ์ที่เป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลงมา “อย่างไร" งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษากระบวนการที่คำนามเนื้อหา การ และ ความ พัฒนาไปเป็นคำไวยากรณ์ที่เป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง วิธีการศึกษาเป็นแบบข้ามสมัย โดยใช้ข้อมูลภาษาไทยที่เขียนหรือจารึกไว้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า ในด้านวากยสัมพันธ์ การใช้ การ และ ความ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงปัจจุบัน ปรากฏใน 3 รูปแบบ คือ การ และ ความ ที่ปรากฏเป็นคำนามเดี่ยว ส่วนมูลฐานในคำประสม และตัวบ่งชี้นามวลีแปลง เมื่อเปรียบเทียบการใช้ การ และ ความ ในแต่ละรูปแบบ พบว่า 1) ในการปรากฏเป็นคำนามเดี่ยว ทั้ง การ และ ความ มีคุณสมบัติเหมือนคำนามทั่วไป คือสามารถปรากฏร่วมกับส่วนขยายนามต่างๆ และปรากฏเป็นอาร์กิวเมนต์ในหน้าที่ต่างๆ ของนามวลีในประโยคได้ทุกหน้าที่ 2) ในการปรากฏเป็นส่วนมูลฐานในคำประสม ทั้ง การ และ ความ ปรากฏในตำแหน่งต้นคำประสมน้อยมาก ส่วนใหญ่ปรากฏท้ายคำประสม และพบว่า มีเพียงคำนามและคำกริยาเท่านั้นที่ประสมกับ การ และ ความ ในคำประสม โดยคำประสมจะมีชนิดของคำตามส่วนมูลฐานที่อยู่ในตำแหน่งต้นคำ และ 3) ในการปรากฏที่เป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง ตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- จะแปลงหน่วยฐานที่เป็นคำนามและคำกริยาทั่วไปที่ไม่ใช่คำกริยาคุณศัพท์ ส่วนตัวบ่งชี้นามวลีนามวลีแปลง ความ- จะแปลงหน่วยฐานที่เป็นคำกริยาคุณศัพท์เป็นหลัก และเมื่อแปลงกริยาหน่วยฐานเป็นนามวลี ด้วยตัวบ่งชี้นามแปลงทั้ง การ- และ ความ- ประธานของกริยาจะเปลี่ยนหน้าที่ไปอยู่ในการกเจ้าของเป็นกรรมของบุพบทที่แสดงความเป็นเจ้าของ เช่น ของ แห่ง หรือ ใน ในด้านอรรถศาสตร์ คำนามเดี่ยว การ และ ความ มีความหมายเชิงเนื้อหามีทั้งความหมายเชิงรูปธรรมและนามธรรม โดยความหมายเชิงเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมของ การ และ ความ แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น การ ‘พิธี’ หรือ ความ ‘คดี’ ส่วนความหมายเชิงเนื้อหาที่เป็นนามธรรมของทั้ง การ และ ความ ไม่แตกต่างกัน คือ ความหมาย ‘เรื่อง, เหตุการณ์’ ซึ่งเป็นความหมายที่พัฒนาไปเป็นความหมายเชิงไวยากรณ์ของทั้ง การ และ ความ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง เมื่อปรากฏเป็นส่วนมูลฐานในคำประสมคำประสม ความหมายเชิงเนื้อหาของ การ และ ความ มีความหลากหลายและเป็นรูปธรรมน้อยกว่าที่ปรากฏเป็นคำเนื้อหาและหลากหลายไปตามคำที่ประสมด้วย และเมื่อปรากฏเป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง โดยทั่วไป นามวลีแปลง การ- จะสื่อความหมายเชิง ‘พลวัต’ ขณะที่นามวลีแปลง ความ- จะสื่อความหมายเชิง ‘สภาพ’ ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการของการใช้ การ และ ความ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงปัจจุบัน กับกระบวนการที่คำทั้งสองกลายเป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง พบว่า การ และ ความ มีแนวโน้มปรากฏเป็นคำนามเดี่ยวลดลง และปรากฏเป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลงเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การ และ ความ ที่ปรากฏเป็นคำนามเดี่ยวลดลงนี้ ปรากฏลำพังลดลงและปรากฏกับส่วนขยายนามที่เป็นนามวลี (การ) และกริยาวลี (การ/ความ) เพิ่มขึ้น การปรากฏในบริบทหน้าส่วนขยายที่เป็นนามวลีและกริยาวลีของ การ และ ความ เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความหมายของ การ และ ความ มีความหมายจางลงหรือทั่วไปมากขึ้น ขึ้นอยู่กับนามวลีหรือกริยาวลีที่มาขยาย การเพิ่มขึ้นของการปรากฏหน้าส่วนขยายนามวลีและกริยาวลี [การ][นามวลี/กริยาวลี] และ [ความ][กริยาวลี] ได้ขยายขอบเขตทางโครงสร้างหรือเทียบแบบจากการปรากฏกับสมาชิกเพียงไม่กี่ตัวในความถี่ไม่มาก ไปปรากฏกับสมาชิกในแต่หมวดหลากหลายชนิดขึ้น การขยายขอบเขตทางโครงสร้างประกอบกับการจางลงของความหมายของ การ และ ความ ที่ปรากฏในบริบทหน้าส่วนขยายนามวลีและกริยาวลีนี้เอง ที่เอื้อให้เกิดการวิเคราะห์ใหม่ทางโครงสร้างจากคำนามเนื้อหาที่ปรากฏหน้าส่วนขยายนามวลีและกริยาวลีไปเป็นตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ- [การ- นามวลี/กริยาวลี] และ [ความ- กริยาวลี]