Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวรรณยุกต์ในคำพูดเดี่ยวและอิทธิพลของวรรณยุกต์ที่มีต่อกันในคำพูดต่อเนื่องภาษาปะโอเหนือและภาษาปะโอใต้ เก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษาจำนวน 20 คน (วิธภาษาละ 10 คน) คำทดสอบที่ใช้สำหรับศึกษาวรรณยุกต์ในคำพูดเดี่ยวเป็นคำพยางค์เดียว ส่วนคำทดสอบวรรณยุกต์ในคำพูดต่อเนื่องเป็นคู่คำทดสอบในกรอบประโยค ผู้วิจัยวิเคราะห์ค่าทางกลสัทศาสตร์ของวรรณยุกต์ 2 วิธี คือ วัดค่าความถี่มูลฐานจำนวน 11 จุดของระยะเวลาแบบปรับค่า (ทุก 10%) แปลงค่าเฮิรตซ์เป็นเซมิโทน และสร้างกราฟเส้นแสดงค่าเซมิโทนอิงระยะเวลาแบบปรับค่า นอกจากนี้ยังได้วัดค่าความถี่มูลฐานทุก 0.01 วินาทีและแปลงค่าเฮิรตซ์เป็นค่าเซมิโทน หลังจากนั้นนำค่าเซมิโทนไปสร้างเส้นแนวโน้มจากสมการพหุนามกำลังสอง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภาษาปะโอเหนือและภาษาปะโอใต้มี 6 วรรณยุกต์ ประกอบด้วยวรรณยุกต์ในพยางค์เป็น 4 หน่วยเสียง คือ วรรณยุกต์สูง (ว.1) วรรณยุกต์กลาง (ว.2) วรรณยุกต์ต่ำ (ว.3) วรรณยุกต์ตก (ว.4) และวรรณยุกต์ในพยางค์ตาย 2 หน่วยเสียงคือ วรรณยุกต์สูงสั้น (ว.5) และวรรณยุกต์ต่ำสั้น (ว.6) บางวรรณยุกต์มีรายละเอียดของความสูงต่ำ การขึ้นตก และรูปลักษณ์ของระดับเสียงที่แตกต่างกันใน 2 วิธภาษา ผลการศึกษาอิทธิพลของวรรณยุกต์ที่มีต่อกัน คือ วรรณยุกต์มีอิทธิพลต่อกันได้ 3 รูปแบบในเรื่องทิศทาง ทิศทางตามเสียงหน้า ตามเสียงหลัง และสองทิศทาง ในเรื่องขนาดของการแปรเปลี่ยน ในทิศทางตามเสียงหน้าใหญ่กว่าหรือมากกว่าในทิศทางตามเสียงหลัง ส่วนลักษณะของการแปรเปลี่ยนสัทลักษณะในภาษาปะโอเป็นแบบกลมกลืนเสียงทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบความชัน พบว่า วรรณยุกต์ในคำพูดต่อเนื่องมีความชันมากกว่าวรรณยุกต์ในคำพูดเดี่ยว ผลการศึกษาสามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของการวิเคราะห์วรรณยุกต์ด้วยวิธีสมการพหุนามกำลังสองที่ผู้วิจัยได้ปรับปรุงจากวิธีการเดิม (Andruski & Costello, 2004) นอกจากนี้ข้อค้นพบยังสะท้อนให้เห็นการแปรของวรรณยุกต์ตามเพศในภาษาปะโอใต้ และแนวโน้มของการสนธิวรรณยุกต์ที่กำลังดำเนินอยู่ในภาษาปะโอเหนือ