Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาการรับภาษาที่สองตามแนวสมมติฐานการคิดเพื่อพูด (Thinking for Speaking) (Slobin,1996, 2003) โดยศึกษาการใช้กริยารองบอกทิศทางแบบไม่บ่งชี้ “ขึ้น” และ “ลง” ในภาษาไทยของผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกและเปรียบต่างความหมายของกริยารอง “ขึ้น” และ “ลง” ในภาษาไทย กับคำบอกทิศทาง “up” และ “down” ในภาษาอังกฤษ และวิเคราะห์การแทรกแซงของการคิดเพื่อพูดของภาษาแม่ในการใช้กริยารอง “ขึ้น” และ “ลง” ของผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองในระดับต้นและระดับสูง งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งขั้นตอนการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลจากคลังข้อมูลภาษา เพื่อศึกษาและเปรียบต่างความหมายของกริยารอง “ขึ้น” และ “ลง” กับคำบอกทิศทาง “up” และ “down และส่วนที่สอง คือการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ภาษาจริงของผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ผลการศึกษาในส่วนแรกพบว่ากริยารอง “ขึ้น” และ “ลง” กับคำบอกทิศทาง “up” และ “down” มีความหมายหลักที่คล้ายกัน ได้แก่ ความหมายเชิงทิศทาง ความหมายเชิงปริมาณ และความหมายเชิงการณ์ลักษณะ แต่มีความแตกต่างในแง่กระบวนการขยายความหมายและความถี่ในการใช้แต่ละความหมาย ทำให้พบความหมายย่อยที่ต่างกัน คือ ในภาษาไทย ความหมายเชิงการบอกการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางประการสามารถใช้ได้กับทั้งกริยารอง “ขึ้น” และ “ลง” เช่น เย็นขึ้น-เย็นลง ส่วนในภาษาอังกฤษ มีความหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนเข้าใกล้สิ่งต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง เช่น move up และความหมายการทำให้วัตถุหรือเหตุการณ์อยู่ในสภาพแย่ลง เช่น wear down สำหรับผลจากการใช้ภาษาของผู้เรียนทั้งสองระดับ ซึ่งได้มาจากเครื่องมือ 2 ชิ้น คือ แบบทดสอบการแปล และชุดคำถามเพื่อแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์สมมติและการบรรยายภาพเหตุการณ์ แสดงให้เห็นว่าผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองสามารถใช้ความหมายหลักทั้ง 3 ความหมายได้ แต่พบการใช้ความหมายเชิงการณ์ลักษณะน้อยมาก ส่วนในแง่โครงสร้าง พบว่าผู้เรียนระดับต้นเลือกใช้ประโยคที่มีกริยาในประโยคเพียงตัวเดียวมากที่สุดในข้อมูลที่ได้จากการแปลทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นการแทรกแซงของลักษณะการคิดเพื่อพูดของภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีโครงสร้างกริยาเรียง ขณะที่ผู้เรียนระดับสูงเลือกใช้โครงสร้างที่มีการใช้ “ขึ้น” และ “ลง” เป็นกริยารองมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนระดับสูงมีแนวโน้มการใช้ภาษาไทยที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากกว่าผู้เรียนระดับต้น ดังนั้นสรุปได้ว่าผลของงานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนสมมติฐานเกี่ยวกับการคิดเพื่อพูดในเชิงการรับภาษาที่สอง ที่ว่ากระบวนการปรับเปลี่ยนลักษณะการคิดเพื่อพูด (Re-thinking for Speaking) เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา โดยมีระดับความสามารถเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้เรียนระดับสูงซึ่งมีประสบการณ์ทางภาษามากจะมีพัฒนาการในการคิดเพื่อพูดของภาษาที่สอง จนสามารถมีลักษณะการคิดเพื่อพูดที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาได้มากกว่าผู้เรียนระดับต้นที่มีประสบการณ์ทางภาษาน้อย