Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรีในเพลงป๊อปภาษาไทยใน 2 แง่มุม คือ 1) ความเข้ากันได้ของเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรีและ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางของรอยต่อเสียงวรรณยุกต์และทิศทางรอยต่อโน้ตดนตรี ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยมีทั้งสิ้น 100 เพลงจากหนังสือเพลง THE GUITAR YEAR BOOK ตั้งแต่ปี 2556-2557 และสุ่มโดยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิโดยใช้ปัจจัยคีย์เพลงและเพศของนักร้อง ผู้วิจัยบันทึกทำนองเพลงลงบนบรรทัด 5 เส้นตามระดับเสียงร้องจริง และนำข้อมูลจากบรรทัด 5 เส้นไปบันทึกลงในข้อมูล Microsoft Excel เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลทางสถิติต่อไป ผู้วิจัยใช้ลำดับโน้ตดนตรีในช่วงเสียงเพื่อวิเคราะห์ความเข้ากันได้ของเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรี แต่ผลการวิจัยเรื่องความเข้ากันได้ของเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรีปฏิเสธสมมติฐานที่ว่าเสียงวรรณยุกต์เอกและเสียงวรรณยุกต์โทจะปรากฏร่วมกับลำดับโน้ตดนตรีในช่วงเสียงต่ำและเสียงวรรณยุกต์ตรีและเสียงวรรณยุกต์จัตวาจะปรากฏร่วมกับโน้ตดนตรีในช่วงเสียงสูง อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าพยางค์เชื่อมไม่ปรากฏรูปแบบความเข้ากันได้ระหว่างพยางค์เชื่อมและลำดับโน้ตดนตรีในช่วงเสียง ผลการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางรอยต่อเสียงวรรณยุกต์และทิศทางรอยต่อโน้ตดนตรีพบว่าเพลงป๊อปไทยมีรอยต่อแบบสอดรับถึง 7,779 คู่ จากรอยต่อทั้งหมด 13,495 คู่ ซึ่งมากกว่ารอยต่อแบบขัดแย้งและแบบไม่ขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) นอกจากนั้นยังพบว่าปัจจัยเรื่องการเน้น ค่าโน้ต อัตราความเร็วและตำแหน่งของพยางค์ในประโยคเพลง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางรอยต่อเสียงวรรณยุกต์และทิศทางรอยต่อโน้ตดนตรีได้ ผลการศึกษาเรื่องการเน้นแสดงให้เห็นว่าการเน้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางรอยต่อเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรี กล่าวคือ คำไวยากรณ์จะปรากฏร่วมกับรอยต่อแบบขัดแย้งมากกว่ารอยต่อแบบสอดรับอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) ส่วนค่าโน้ตดนตรีที่มีค่ามากจะมีแนวโน้มที่จะปรากฏร่วมกับรอยต่อแบบสอดรับอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) ในแง่ของอัตราความเร็วของเพลง พบว่าหากอัตราความเร็วของเพลงเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ปรากฏร่วมกับรอยต่อแบบขัดแย้งมากกว่ารอยต่อแบบสอดรับอย่างมีนัยสำคัญ (p=0.00559) และในแง่ของตำแหน่งของพยางค์ในประโยคเพลงพบว่า พยางค์ที่ปรากฏในตำแหน่งท้ายประโยคเพลงจะปรากฏร่วมกับรอยต่อแบบสอดรับมากกว่ารอยต่อแบบขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) ผลสรุปของงานวิจัยคือการทาบเทียบระหว่างเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรียึดความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางรอยต่อเสียงวรรณยุกต์และทิศทางรอยต่อโน้ตดนตรีไม่ได้ดูความเข้ากันได้ของเสียงวรรณยุกต์และโน้ตดนตรี