Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หน้าที่การสื่อสารและวัจนกรรมของถ้อยคำที่มีการปรากฏของอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” ในภาษาไทย ศึกษาการรับอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” ของผู้พูดภาษาญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองและผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และเปรียบเทียบการรับอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” ของผู้เรียนภาษาที่สองทั้งสองกลุ่มกับการใช้อนุภาคลงท้ายดังกล่าวของเจ้าของภาษา ผู้วิจัยได้วิเคราะห์หน้าที่การสื่อสารและวัจนกรรมของถ้อยคำที่มีการปรากฏของอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” จากข้อมูลในคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ พบว่าอนุภาคลงท้าย “นะ” มีหน้าที่การสื่อสาร 3 หน้าที่ คือ ทำให้ถ้อยคำมีความอ่อนโยน เน้นย้ำถ้อยคำให้เด่นชัด และเกริ่นนำหัวเรื่องให้เด่นชัด ส่วนวัจนกรรมของถ้อยคำที่มีการปรากฏของอนุภาคลงท้าย “นะ” มีทั้งหมด 4 วัจนกรรม คือ วัจนกรรมบรรยาย วัจนกรรมกำหนดให้ทำ วัจนกรรมผูกมัด และ วัจนกรรมแสดงความรู้สึก ในขณะที่อนุภาคลงท้าย “สิ” มีหน้าที่การสื่อสาร 4 หน้าที่ คือ ทำให้ถ้อยคำมีอำนาจ ทำให้ถ้อยคำมีความหนักแน่น แสดงให้เห็นว่าผู้พูดไม่มีความสนใจร่วม และเกริ่นนำหัวเรื่องแบบแย้ง ส่วนวัจนกรรมของถ้อยคำที่มีการปรากฏของอนุภาคลงท้าย “สิ” มีทั้งหมด 3 วัจนกรรม คือ วัจนกรรมบรรยาย วัจนกรรมกำหนดให้ทำ และวัจนกรรมแสดงความรู้สึก ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลการใช้อนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” จากผู้ให้ข้อมูล 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าของภาษา ผู้พูดภาษาญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และผู้พูดภาษาอังกฤษที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง จำนวนกลุ่มละ 20 คน ผลการวิจัยของการใช้อนุภาคลงท้ายทั้งสองในละครจำลองสถานการณ์ (role play) และการจับคู่สนทนาในสถานการณ์ที่กำหนด (pair discussion) พบว่ากลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั้งสามกลุ่มใช้อนุภาคลงท้าย “นะ”และ “สิ” ในแง่ความถี่ ความหลากหลายของหน้าที่การสื่อสาร และวัจนกรรมโดยรวมไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยจากแบบทดสอบวัดความเข้าใจแบบปรนัย (multiple choice test) พบว่าเจ้าของภาษาสามารถเข้าใจหน้าที่การสื่อสารและวัจนกรรมของถ้อยคำที่มี “นะ” และ “สิ” มากกว่ากลุ่มผู้เรียนภาษาที่สองทั้งสองกลุ่ม ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถอธิบายได้ด้วยวัตถุประสงค์และลักษณะของเครื่องมือที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เครื่องมือละครจำลองสถานการณ์และการจับคู่สนทนาในสถานการณ์ที่กำหนดมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ภาษาจริงของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นธรรมชาติ ผู้ให้ข้อมูลสามารถเลือกใช้ภาษาและอนุภาคลงท้ายที่ตนเองรู้และใช้เป็น ในขณะที่แบบทดสอบวัดความเข้าใจแบบปรนัยต้องการทดสอบความเข้าใจในหน้าที่การสื่อสารของอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” และวัจนกรรมของถ้อยคำที่มีการปรากฏของอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” ทั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลยังต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างอนุภาคลงท้าย “นะ” และ “สิ” กับอนุภาคลงท้ายอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลต้องเลือกคำตอบในบริบทต่างๆ ที่ไม่สามารถกำหนดได้เอง ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เรียนภาษาที่สอง โดยสรุปงานวิจัยนี้พบว่าผู้เรียนภาษาที่สองที่ภาษาแม่มีอนุภาคลงท้ายและไม่มีอนุภาคลงท้ายสามารถรับอนุภาคลงท้ายในภาษาที่สองได้ไม่แตกต่างกัน แต่อาจจะยังไม่ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา