Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจถึงวิธีคิดบางส่วนของชนชั้นกลางในช่วงทศวรรษ 2460 ถึงช่วงทศวรรษ 2480, โดยเฉพาะประเด็นในด้านของจริยธรรม ด้วยการวิเคราะห์ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างบริบททางความคิดและงานวรรณกรรมหรือที่นิยมเรียกกันในสมัยนั้นว่า “เรื่องอ่านเล่น” อันเป็นสิ่งพิมพ์ที่เริ่มเป็นที่นิยมของชนชั้นกลางในช่วงเวลานั้น สิ่งพิมพ์เหล่านี้ในด้านหนึ่งก็ถูกสร้างขึ้นผ่านบรรยากาศทางความคิด บรรทัดฐานทางสังคม และระบบวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น ภายใต้บรรยากาศที่องค์ประกอบของสังคมจารีตและสังคมสมัยใหม่ยังคงดำรงอยู่ควบคู่กัน ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมดังกล่าว ก็ได้ใช้สิ่งพิมพ์เหล่านี้ในฐานะพื้นที่ในการสร้างจินตนาการทางจริยธรรม แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของปัจเจกที่มีต่อสภาพทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง สภาพสังคมที่เริ่มมีลักษณะของทุนนิยมและบริโภคสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนในการสร้างความรับรู้ใหม่ โดยเฉพาะกรอบคิดเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในระดับของการรับรู้ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ และการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่เช่นความรักโรแมนติก ได้มีส่วนผลักดันให้นักเขียนชนชั้นกลางสร้าง/นำเสนอบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้น คือ นำเสนอถึงความเห็นอกเห็นอกเห็นใจ ต่อต้านการดูถูกมนุษย์ และให้ความสำคัญกับความสุขทางใจ อันเป็นปฏิกิริยาของชนชั้นกลางบางส่วนต่อทั้งสังคมจารีตและสังคมสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน บรรทัดฐานทางจริยธรรมดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้นิยามถึงความแตกต่างระหว่างตนกับชนชั้นอื่น นอกจากนั้น ยังมีส่วนในการจัดวางกรอบความคิดในการวิพากษ์ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทั้งปัญหาที่เกิดจากทุนนิยมและปัญหาทางการเมือง โดยหลักการดังกล่าววางอยู่บนฐานคิดเรื่องความดีในระดับปัจเจกบุคคล และมองว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมด้วยการที่ปัจเจกแต่ละคนรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ดูถูกเพื่อนมนุษย์ และรู้จักพอ