Abstract:
การเรียนการสอนในสายวิชาการออกแบบแฟชั่นได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากองค์ความรู้ในด้านการออกแบบเกือบทั้งหมดเป็นองค์ความรู้ในส่วนของศิลปกรรมที่เน้นหนักทางรสนิยมความงาม หากแต่สินค้าแฟชั่นนั้นเป็นผลงานประยุกต์ศิลป์ที่มีการแข่งขันในตลาดสูง สมรภูมิทางจิตวิทยาที่จะสามารถเชื่อมความรู้สึกของผู้บริโภคให้รับรู้ถึงความงามนั้นๆจึงถือเป็นพื้นที่ใหม่ ที่จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้า ดังนั้นทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เชื่อมความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคจึงถูกโยงเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบแฟชั่น การนำทฤษฏีภาพต้นแบบ (Archetype) ที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการหลายแขนงว่าเหมาะ สำหรับใช้เป็นแนวคิดหลักในการสร้างตราสินค้าที่สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้บริโภคอย่างแยบยลนั้น ผู้วิจัยได้นำมาใช้สร้างกรอบแนวคิดในการออกแบบแฟชั่นร่วมกับแนวโน้มแฟชั่น (Trend) โดยเทคนิคนี้จะช่วยให้นักออกแบบสามารถสรุปบุคลิกของตราสินค้า กลุ่มเป้าหมาย และการเลือกใช้แนวโน้มแฟชั่นที่สัมพันธ์กัน ในการออกแบบสินค้าแฟชั่น งานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยสามารถสร้างกลุ่มภาพต้นแบบ ด้วยเทคนิค Socio-style mappingโดยสามารถแบ่งกลุ่มภาพต้นแบบจากทั้งหมด 15 บุคลิกออกเป็น 4 กลุ่มตามความสัมพันธ์กับแนวโน้มแฟชั่นสากล และนำเสนอกรอบแนวคิดสำหรับนักออกแบบให้เข้าใจง่าย ด้วยแผนภาพ โดยนักออกแบบรุ่นใหม่สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้จริง ผลการวิจัย ผู้วิจัยสรุปคำตอบที่เป็นรูปแบบรสนิยมทางแฟชั่นของกลุ่มเป้าหมายชายและหญิงในประเทศไทย อีกทั้งผู้วิจัยได้ทดลองทำงานสร้างสรรค์ที่อ้างอิงจากรสนิยมของกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับภาพต้นแบบตามที่ได้ผลวิจัยออกมา โดยนำเสนอในรูปแบบแฟชั่นคอลเลคชั่นต้นแบบตราสินค้า โดยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางเลือกสำหรับการสร้างอัตลักษณ์ตราสินค้าแฟชั่นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเป็นประโยชน์ในวงกว้างสำหรับนิสิตนักศึกษาสายการออกแบบแฟชั่น ผู้ประกอบการในธุรกิจแฟชั่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจในธุรกิจนี้ จะส่งผลให้พัฒนาวงการแฟชั่นโดยมีเครื่องมือใหม่สำหรับใช้ในการออกแบบต่อไป อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่สามารถนำไปวิจัยเพิ่มเติมกับกลุ่มแฟชั่นในระดับมหภาค หรือสินค้าประเภทอื่นที่มีความต้องการด้านการออกแบบสนับสนุน