Abstract:
ศึกษาระดับการเพิ่มขึ้นของสารเพิ่มความชัดภาพในภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ เปรียบเทียบกับระดับความหนาแน่นของหลอดเลือดขนาดเล็กเพื่อประเมินความรุนแรงของเนื้องอกช่องปากของสุนัขจากสุนัขป่วยตัวอย่างจำนวน 20 ตัว คละเพศ สุนัขมีอายุระหว่าง 8 ปีถึง 17 ปี น้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง 3.6 กิโลกรัมถึง 40 กิโลกรัม พบเนื้องอกช่องปาก 4 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดสี 13 ตัว มะเร็งเซลล์สความัสเซลล์ 4 ตัว และมะเร็งเส้นใย 3 ตัว พบว่าสารเพิ่มความชัดภาพเดินทางไปถึงจุดสนใจใช้เวลามากในสุนัขที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยระยะเวลาที่สารเพิ่มความชัดภาพเดินทางไปถึงจุดสนใจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับน้ำหนักตัวสุนัขอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนเนื้องอกมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นรังสีภายหลังการฉีดสารเพิ่มความชัดภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 127.09 ± 38.58 โดยกลุ่มมะเร็งเซลล์สความัสมีค่าความหนาแน่นรังสีบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนของเนื้องอกหลังฉีดสารเพิ่มความชัดภาพเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มมะเร็งเม็ดสี และกลุ่มมะเร็งเส้นใย คือเฉลี่ยร้อยละ 161.88 ± 23.47, 122.78 ± 37.90 และ 99.37 ± 31.58 ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานความหนาแน่นของหลอดเลือดขนาดเล็กบนเนื้อเยื่อตัวอย่างจากสุนัขตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเท่ากับ 36.9 ± 11.7 หลอดเลือดต่อตารางมิลลิเมตร ค่าเฉลี่ยสูงสุดคือกลุ่มมะเร็งเซลล์สความัสรองลงมาคือกลุ่มมะเร็งเม็ดสี และกลุ่มมะเร็งเส้นใยคือ 47.58 ± 5.37, 35.38 ± 11.64 และ 27.23 ± 6.59 หลอดเลือดต่อตารางมิลลิเมตร ตามลำดับ พบว่าค่าร้อยละความหนาแน่นรังสีที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความหนาแน่นของหลอดเลือดขนาดเล็กบนเนื้อเยื่อตัวอย่างอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.01)