Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลตามแนวการบำบัดที่เน้นการยอมรับและความมุ่งมั่นแบบสั้นต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง แบบมีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบางละมุง ที่ผ่านการคัดเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 42 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 21 คน และกลุ่มควบคุม 21 คน ด้วยวิธีการสุ่ม ผู้สูงอายุในกลุ่มทดลองได้รับการปรึกษาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 นาที รวม 5 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการปรึกษาใด ๆ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดความวิตกกังวลของผู้สูงอายุ และโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลตามแนวการบำบัดที่เน้นการยอมรับและความมุ่งมั่น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าทีของกลุ่มที่สัมพันธ์กัน (Paired sample t-test) และการทดสอบค่าทีของกลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent sample t-test) ผลการวิจัย พบว่า 1. หลังทดลอง กลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลตามแนวการบำบัดที่เน้นการยอมรับและความมุ่งมั่น มีคะแนนความวิตกกังวลของผู้สูงอายุต่ำกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม คะแนนความวิตกกังวลของผู้สูงอายุหลังทดลองของกลุ่มทดลอง ต่ำกว่าคะแนนความวิตกกังวลของผู้สูงอายุหลังทดลองของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001