Abstract:
การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาในจังหวัดสมุทรปราการ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาท และแนวทางการป้องกันและแก้ไข การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กับการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ในการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มนักศึกษาระดับอนุปริญญาเพศชาย จำนวน 364 คน ประมวลผลด้วยโปรแกรม SPSS วิเคราะห์หาค่าทางสถิติ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และไคสแควร์ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสังเกต และการสัมภาษณ์เชิงลึก ประชากรที่ศึกษาจำนวน 12 คน ประกอบด้วย นักศึกษาที่เคยมีประสบการณ์การทะเลาะวิวาท 3 คน ผู้ปกครอง 3 คน เจ้าหน้าที่ของรัฐ 3 คน และครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา 3 คน จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการศึกษาพบว่าสภาพปัญหาการทะเลาะวิวาทเกิดจากความเชื่อมโยงใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) ด้านนักศึกษา 2) ภาวะด้านครอบครัว และ 3) ด้านสภาวะแวดล้อม เนื่องจากนักศึกษาอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและอารมณ์สูง ชอบลองในสิ่งที่ท้าทาย ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากครอบครัว ประกอบกับการจัดตารางเวลาเรียนและกิจกรรมที่มีเวลาเรียนตรงกันกับสถาบันคู่อริ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองมีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเกิดเหตุจึงไม่สามารถเข้าระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตอยู่บ่อยครั้ง โดยมีปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาทในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการทั้งหมดที่ศึกษา 8 ปัจจัย คือ อายุ ช่วงเวลาเรียน การคิดก่อนกระทำผิด การควบคุมทางสังคม การคบเพื่อน ความผูกพันทางสังคม สัญลักษณ์ของสถาบัน และการควบคุมตนเอง ซึ่งมีแนวทางการป้องกันและแก้ไขหลักโดยให้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดแผนและวิธีป้องกันการก่อเหตุ