Abstract:
การวิจัยครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำหนดกรอบ (Framing) ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดกรอบ และการทำหน้าที่ของบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เปรียบเทียบระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 และ เดือนตุลาคม 2556 - พฤษภาคม 2557 ระหว่างการทำหน้าที่ในฐานะ “กระจก” ที่สะท้อนความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ “ตะเกียง” ที่ส่องสว่างชี้แนะแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง ผลการศึกษาพบว่า การกำหนดกรอบหลักของบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2553 เน้นกำหนดกรอบแบบเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา การทำหน้าที่ของบทบรรณาธิการในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเปรียบเหมือน “ตะเกียง” ที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และมีกรอบข่าวสาร (News frame) สำคัญ คือ “ประชาธิปไตยต้องเคารพกฎหมาย” ส่วนการกำหนดกรอบ เดือนตุลาคม 2556 - พฤษภาคม 2557 พบว่าการกำหนดกรอบแบบชี้ให้เห็นปัญหามีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้การทำหน้าที่ของบทบรรณาธิการช่วงเวลาดังกล่าว เป็นทั้ง "กระจกและตะเกียง" ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยมีกรอบข่าวสาร (News frame) สำคัญคือ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือประชาธิปไตยที่สอบทานไม่ได้” สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดกรอบข่าวสารของบทบรรณาธิการไทยรัฐ ประกอบด้วยปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน ได้แก่ ลักษณะเฉพาะและอุดมการณ์ของตัวผู้เขียนบทบรรณาธิการ และนโยบายองค์กรของไทยรัฐที่มักเน้นการไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและพื้นที่การชุมนุม คู่ขัดแย้งทางการเมือง อิทธิพลของสื่อออนไลน์ เป็นต้น