Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้มุ่งศึกษาวิวัฒนาการของพิธีแต่งงานไทยจากขนบธรรมเนียมประเพณีไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมทั้งศึกษาพัฒนาการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานภายใต้ระบบทุนนิยม และศึกษาบทบาทและกระบวนการส่งผ่านสัญญะในพิธีการแต่งงานปัจจุบัน โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้างผ่านธุรกิจผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงาน ได้แก่ ธุรกิจ Wedding Photographer, Wedding Planner, Wedding Studio และธุรกิจชุดแต่งงาน นอกจากนั้นยังได้ทำการการสำรวจคู่แต่งงานที่จัดพิธีแต่งงานขึ้นในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2550-2558 ซึ่งทำการวิเคราะห์ผ่านแบบสอบถามโดยมีโครงสร้าง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ยึดถือกระบวนทัศน์การตีความ การกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของพิธีแต่งงานมีวิวัฒนาการจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตโดยความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงานและคู่บ่าวสาว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมจากระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิวัฒนาการนั้นเกิดขึ้นหลักจากปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในสังคมไทยเป็นสังคมที่ทันสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงานอย่างรวดเร็ว ผลการศึกษาพบว่าธุรกิจแต่งงานมีความก้าวหน้ามาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการลดลงของต้นทุนทางธุรกรรมผ่านการให้บริการจัดงานแต่งงานแบบครบวงจรเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่คู่บ่าวสาว ดังนั้นพิธีแต่งงานในปัจจุบันมิได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่บ่าวสาวและครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่ายอีกด้วย การบริโภคเชิงสัญญะนี้เองได้ทำให้การจัดงานแต่งงานมีมูลค่าแลกเปลี่ยนสูงมาก ทั้งนี้ สัญญะของการจัดงานแต่งงานดังกล่าวถูกส่งผ่านรูปภาพหรือวีดิโอซึ่งคู่แต่งงานสามารถอัพโหลดผ่านทางสื่อสังคมต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงการบริโภคเชิงโอ้อวด สื่อสังคมเป็นสื่อทางสังคมที่ทุกคนสามารถเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย สื่อสังคมจึงนับเป็นช่องทางหลักที่สำคัญในการแสดงสถานภาพทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน