Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมประวัติความเป็นมาของสำนักเกตุคงในจังหวัดนครราชสีมาและกระบวนการสืบทอดดนตรีไทยของสำนักเกตุคงในจังหวัดนครราชสีมา ผลจากการศึกษาพบว่า สำนักเกตุคงจังหวัดนครราชสีมาก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2493 โดยครูบุญยัง เกตุคง การถ่ายทอดความรู้มี 3 วิธีคือ 1.การถ่ายทอดโดยตรง 2.การถ่ายทอดจากศิษย์ถึงศิษย์ 3.การถ่ายทอดภายหลังจากศิษย์ได้ศึกษาด้วยตนเอง บทเพลงที่ถ่ายทอดนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.เพลงที่ใช้ประกอบอาชีพ ได้แก่ เพลงประกอบการแสดงลิเก เพลงเสภา และเพลงมอญ 2.เพลงพิเศษ ซึ่งครูบุญยัง เกตุคง จะคัดเลือกถ่ายทอดให้กับศิษย์เฉพาะคน ได้แก่ เพลงหน้าพาทย์และเพลงเดี่ยว นอกจากความรู้เรื่องเพลงแล้วครูบุญยัง เกตุคง ยังประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์จนกลายเป็นขนบและวิธีการปฏิบัติของสำนัก ได้แก่ การแต่งกาย การบรรเลง และการประพฤติตนให้เหมาะสม การสืบทอดความรู้ของสำนักนั้นพบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ 1.การสืบทอดความรู้ของวงศิษย์เกตุคง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในปัจจุบันคงเหลือเพียงการรวมตัวของศิษย์เพื่อบรรเลงในงานไหว้ครูเท่านั้น 2. การสืบทอดความรู้ดนตรีไทยในสายอาชีพนักดนตรีไทย โดยมีทั้งศิษย์ที่เป็นเจ้าของวงดนตรีไทย ได้แก่ วงปี่พาทย์มอญคณะรัตนบรรเลง วงปี่พาทย์ประยุกต์คณะ ร.รุ่งเรืองศิลป์ และกลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทยบ้านภูเขาลาด และศิษย์ที่ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีไทยอิสระ 3. การสืบทอดความรู้ดนตรีไทยในหน่วยงานราชการจากศิษย์ที่ทำงานในระบบราชการทั้งในและนอกจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้การสืบทอดของศิษย์สำนักเกตุคง ยังคงรักษาขนบและวิธีการปฏิบัติของสำนัก