Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ผ่านพัฒนาการด้านปรัชญาในเรื่องพระมหาชนก” เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวคิด ไปจนถึงรูปแบบในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีชาดก และบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เรื่อง พระมหาชนก ทั้งนี้ยังได้มุ่งเน้นในการนำหลักปรัชญาที่สำคัญจากวรรณคดีดังกล่าว คือ ปรัชญาแห่งความเพียร ปรัชญาแห่งการศึกษา มาเป็นแนวคิดหลัก พร้อมด้วยข้อมูลที่ได้สืบค้นในอีกหลายส่วน เช่น ข้อมูลเชิงเอกสาร งานวิจัย การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจำแนกออกเป็นองค์ประกอบทางนาฏยศิลป์ทั้ง 8 ประเด็น ได้แก่ 1) บทในการแสดงสร้างสรรค์ขึ้นจากหลักปรัชญาในเรื่องพระมหาชนก 2) นักแสดงที่มีทักษะความสามารถทางนาฏยศิลป์ 3) ลีลาที่นำเสนอผ่านนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ (post-modern dance) 4) ดนตรีในการแสดงที่สร้างสรรค์บรรเลงขึ้นใหม่จากเชลโล่ (Cello) และเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic music) 5) การไม่เน้นใช้อุปกรณ์การแสดงเพื่อให้นักแสดงเป็นหลักในการสื่อสาร สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางปรัชญา ผ่านแนวคิดมินิมอลลิสม์ (Minimalism) 6) พื้นที่การแสดงที่ไม่จำกัดเฉพาะโรงละคร โดยสามารถแสดงได้ในพื้นที่แบบอื่น ๆ 7) แสง ในการแสดงที่บ่งบอกเรื่องราวและอารมณ์ในแบบต่าง ๆ โดยใช้ทฤษฎีของสีในการสร้างบรรยากาศ และ 8) เครื่องแต่งกายที่ดูเรียบง่าย อำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนไหวของนักแสดง นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญใน 7 ประเด็น คือ 1) การคำนึงถึงปรัชญาทางวรรณคดีชาดก และบทพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก 2) ความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) การใช้สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงทฤษฎีทางนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม 6) การคำนึงถึงการสะท้อนถึงสภาพสังคมในปัจจุบันโดยใช้นาฏยศิลป์ และ 7) การคำนึงถึงการแสดงที่สื่อสารเพื่อคนรุ่นใหม่ จากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาอันทรงคุณค่าที่ได้แฝงไว้ในเรื่องพระมหาชนก ซึ่งจะมีความแตกต่างจากรูปแบบของการแสดงพระมหาชนกที่ปรากฏหลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการและเผยแพร่นาฏยศิลป์กับปรัชญาจากวรรณคดีชาดกไปพร้อม ๆ กัน และได้รูปแบบการสื่อสารทางนาฏยศิลป์แนวใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต