Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ และเพื่อค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ ถือว่าเป็นงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวิจัยแบบ สหสาขาวิชาจากแนวคิดทางเรื่องทาส อุปาทาน 4 สัญญะวิทยา และศิลปกรรมศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบเกณฑ์มาตรฐานศิลปิน แบบวิเคราะห์จากเอกสารและตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับงานนาฏยศิลป์ และ การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์การแสดง และสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์เป็นการนำเรื่องราวของทาสเชิงเปรียบเทียบในสังคมปัจจุบันมาสร้างสรรค์เป็นงานสะท้อนสังคม โดยเป็นการแสดงสาระสำคัญของการยึดมั่นถือมั่นจากการเป็นทาสโดยนำเรื่องอุปาทาน 4 มาเป็นกรอบในการสร้างบทการแสดง สามารถจำแนกตามองค์ประกอบการแสดงได้ 8 องค์ประกอบ คือ 1) ด้านการออกแบบบทการแสดง สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ภายใต้แนวความคิดจากทาสเชิงเปรียบเทียบในสังคมปัจจุบันโดยนำเรื่องอุปาทาน 4 ในพระพุทธศาสนามาเป็นกรอบในการสร้างบทการแสดง 2) ด้านการคัดเลือกนักแสดง มีความสามารถและมีทักษะในการสื่อสารบทและอารมณ์ของการแสดง 3) ด้านการออกแบบลีลานาฏยศิลป์ นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ด้านการออกแบบเสียงใช้การเล่นดนตรีสด โดยคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีความเหมาะสมในการใช้เสียงความอารมณ์ความรู้สึกของบทการแสดง 5) ด้านการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง นำเสนอผ่านแนวคิดสัญญะวิทยา และเข้าใจง่าย คือ นั่งร้าน (โครงเหล็กสี่เหลี่ยมสองชั้น) ธนบัตร เสื่อ ไพ่ ขวดสุรา ดอกดาวเรือง 6) ด้านการออกแบบพื้นที่การแสดง จัดการแสดงในพื้นที่แบบเปิดในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่โรงละคร 7) ด้านการออกแบบแสง ใช้แนวคิดทฤษฎีสีมาช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึก และลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ และ 8) ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย ใช้การออกแบบบนพื้นฐานแนวคิดสภาพความเป็นจริง (realistic) คือการแต่งกายเสื้อผ้าสมัยปัจจุบัน นอกจากแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ได้ให้ความสำคัญใน 7 ประเด็นคือ 1) แนวคิดเรื่องทาสตามหลักอุปาทาน 4 ในพระพุทธศาสนา 2) แนวคิดเรื่องประเด็นทางสังคม 3) แนวคิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดเรื่องการใช้สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดเรื่องทฤษฎีด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) แนวคิดการแสดงที่สร้างสรรค์เพื่อเยาวชนรุ่นใหม่ และ 7) แนวคิดเรื่องหลักคุณธรรมและจริยธรรม ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ นอกจากนี้พบว่า จุดเด่นของการสร้างสรรค์ผลงาน การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ชุดทาส คือการแสดงตลก ได้จากแนวคิดการแสดงแบบตลกหลวง หรือ ตลกร้าย (บัฟฟูนส์) ละครเคียวเง็น และการแสดงจำอวด