Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์จากแนวคิดการแบ่งภาคของพระนารายณ์ โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพจากความรู้สหสาขาวิชา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจาก เอกสาร ตำรา การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสังเกตการณ์ เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลอง แก้ไขและสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์จากแนวคิดการแบ่งภาคของพระนารายณ์ เสนอการแบ่งภาคทั้ง 3 แบบของพระนารายณ์ คือ อวตาร (Avatara) อาเวศ (Avesa) และ อังสะ (Amsa) ผสมผสานบทวรรณกรรมเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง ถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงนาฏยร่วมสมัย และการใช้สัญลักษณ์ สามารถจำแนกองค์ประกอบการแสดง 8 ประการ คือ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์บทการแสดงขึ้นใหม่ตามแนวคิดการแบ่งภาค 2) ใช้นักแสดงที่มีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ 3) ลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัย 4) เสียง ใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบการแสดง 5) อุปกรณ์การแสดง นำเสนอผ่านแนวคิดมินิมอลลิซึม (Minimalism) ที่เน้นการใช้สัญลักษณ์ และความเป็นเอกภาพ 6) เครื่องแต่งกาย ใช้แนวคิดมินิมอลลิซึม (Minimalism) 7) พื้นที่การแสดง ใช้โถงกว้าง 8) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีมาช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์มี 6 ประการ คือ 1) แนวคิดการแบ่งภาคของพระนารายณ์ 2) แนวคิดการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์บนพื้นฐานของวรรณกรรมลิลิตนารายณ์สิบปาง 3) แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) แนวความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดการใช้ทฤษฎีทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ 6) แนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม การวิจัยเชิงสร้างสรรค์ครั้งนี้ จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ร่วมกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อทางความคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมลิลิตนารายณ์สิบปาง อีกทั้งเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ต่อไป