Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดในการสร้างสรรค์ละครเพลงร่วมสมัย เรื่องศิลปินผู้บุกเบิกนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในประเทศไทย โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจจากเกณฑ์การสร้างมาตรฐานการยกย่องศิลปินต้นแบบนาฏยศิลป์ ที่ได้ทำการศึกษาถึงแนวความคิดของศิลปินผู้ที่มีมาตรฐานควรค่าแก่การยกย่องในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้วิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญ ทั้งในประวัติผลงานและแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ที่มีความหลากหลายของศิลปินผู้บุกเบิกนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในประเทศไทย โดยนำข้อมูลสำคัญดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดง และดำเนินการทดลองปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนดำเนินการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงการแสดง การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์สู่สาธารณชน และสรุปผลที่ได้จากการวิจัย ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์ละครเพลงร่วมสมัย เรื่องศิลปินผู้บุกเบิกนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์แนวคิดจากเกณฑ์การสร้างมาตรฐานการยกย่องศิลปินต้นแบบนาฏยศิลป์ ซึ่งการแสดงประกอบไปด้วย 3 องก์ แบ่งออกเป็น 11 ตอน โดยศึกษาจากองค์ประกอบการแสดงที่ประกอบไปด้วย 1) สร้างสรรค์บทการแสดงในรูปแบบปะติดตามเกณฑ์มาตรฐานศิลปิน 2) ใช้นักแสดงที่มีความสามารถหลากหลาย 3) นำเสนอลีลาผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัยและนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ออกแบบดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหลากหลายรูปแบบ 5) การออกแบบอุปกรณ์การแสดง โดยสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์และสื่อสารการแสดง 6) การออกแบบพื้นที่เวทีในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักแสดงได้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเต็มที่ 7) ออกแบบเครื่องแต่งกายในแนวคิดมินิมอลลิซึม 8) ออกแบบแสงและเทคนิคพิเศษ โดยใช้ความหลากหลายของทฤษฎีสีของแสง นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้ให้ความสำคัญใน 9 ประเด็นคือ 1) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานละครเพลง 2) การใช้ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 3) การใช้ทฤษฎีทางด้านการสื่อสารการแสดง 4) การใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์และทัศนศิลป์ 5) การใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อสาร 6) การสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของนาฏศิลปิน 7) การสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม 8) การคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม 9) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ