Abstract:
การวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างกลองปูจาของครูญาณ สองเมืองแก่น มุ่งศึกษาในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลองปูจา ประวัติชีวิตครูญาณ สองเมืองแก่น และกรรมวิธีการสร้างกลองปูจาของครูญาณ สองเมืองแก่น โดยทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลฝากตัวเป็นศิษย์กับครูญาณ สองเมืองแก่น ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ค้นคว้าเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่ากลองปูจาเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นมงคล ชาวจังหวัดน่านเชื่อว่ากลองปูจาเป็นของสูง มีพิธีกรรมเกี่ยวกับกลองปูจา ได้แก่ พิธีสร้างกลอง พิธีไหว้ครู พิธีอัญเชิญกลอง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคลและสร้างความสามัคคี ครูญาณ สองเมืองแก่น ได้รับการยอมรับว่าเป็นปราชญ์ด้านงานช่างสร้างกลองและศิลปะแขนงต่าง ๆ ของจังหวัดน่าน และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นครูศิลป์แห่งแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2558 กรรมวิธีการสร้างกลองปูจาของครูญาณ สองเมืองแก่น ใช้วิธีแบบโบราณเริ่มจากกำหนดฤกษ์วันหุ้มกลอง ขนาดกลองและหน้ากลองตามโฉลกที่เป็นมงคล ขุดเจาะด้วยเหล็กเซาะและแต่งผิวกลองด้วยกบ นำหนังวัวมาหุ้มเป็นหน้ากลองแล้วขึงด้วยวิธีขันชะเนาะ เจาะรูบริเวณปากกลองแล้วใช้สลักไม้ไผ่ซางที่เหลาเตรียมไว้ตอกรอบตัวกลองแล้วจึงตกแต่งชายหนังด้วยหวายหรืออลูมิเนียม ภายในบรรจุหัวใจกลองที่ลงอักขระคาถาเมตตามหานิยม พระสงฆ์และชาวบ้านให้การยอมรับว่ากลองปูจาที่สร้างหรือหุ้มกลองโดยครูญาณ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ สลักกลองไม้ไผ่ซางที่เหลาด้วยมือไม่ใช้การกลึง การตัดชายหนังหุ้มปลอกกลองด้วยหวายหรืออลูมิเนียมอย่างสวยงาม การขึงหน้ากลองด้วยวิธีขันชะเนาะ มีการประกอบพิธีบรรจุหัวใจกลองลงอักขระคาถาไว้ ทำให้กลองมีคุณภาพทั้งเสียง รูปลักษณ์ ความคงทนของหน้ากลองและมีความศักดิ์สิทธิ์