Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมโนราของชาวสยาม บ้านปลายระไม อำเภอเปิ้นดัง รัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) ประเทศมาเลเซียและเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยในการสืบทอดและบทบาทของวัฒนธรรมโนราของชาวสยามที่นี่ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับพิธีโนราโรงครูในช่วงปี พ.ศ. 2554 – 2557 และได้เก็บข้อมูลภาคสนามการประกอบพิธีโนราโรงครูในจังหวัดพัทลุงเพิ่มเติมเพื่อนำมาวิเคราะห์การดำรงอยู่และการสืบทอดวัฒนธรรมโนราที่ปลายระไมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผลการศึกษาการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมโนราของชาวสยามบ้านปลายระไม พบว่า ดำรงอยู่ในรูปของวรรณกรรมทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะ ได้แก่ ตำนานครูหมอโนราท้องถิ่น นิทานเรื่องพระสุธน-มโนห์รา พระรถ-เมรี และวรรณกรรมลายลักษณ์ ได้แก่ บทโนราที่ใช้ในพิธีกรรมโนราโรงครูซึ่งคล้ายคลึงกับที่พบในภาคใต้ ส่วนการดำรงอยู่ในรูปของพิธีกรรม พบว่า พิธีกรรมโนราโรงครูที่นี่มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือเพื่อแก้บนและเพื่อตัดจุกโนราใหม่ ธรรมเนียมปฏิบัติและขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมยังคงดำเนินตามแบบแผนที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต พบว่าที่บ้านปลายระไมมีโนรา 2 คณะ มีทั้งโนราหญิงและโนราชาย นิยมให้โนรารุ่นหลังเป็นผู้ประกอบพิธีตัดเหมฺรฺย ชาวสยามที่ไทรบุรียังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนรา นับถือครูหมอโนราทั้งที่เป็นบรรบุรุษและเป็นครูหมอโนราในท้องถิ่น และเชื่อว่าครูหมอส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศไทย ส่วนร่างทรงนั้น มาจากการเลือกของครูหมอ ร่างทรงคนหนึ่งอาจมีครูหมอมาลงได้หลายองค์ ปัจจัยในการสืบทอดวัฒนธรรมโนราบ้านปลายระไม มีทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ 1) การยังคงมีผู้สืบทอดการเป็นโนรา โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีคนรุ่นใหม่ที่มาฝึกหัดโนราและเข้าพิธีตัดจุกเป็นโนราใหญ่หลายคนด้วยความเต็มใจและความภาคภูมิใจ 2) การที่ชาวบ้านปลายระไมยังคงมีความเชื่อเรื่องครูหมอโนราอย่างเหนียวแน่น โดยเชื่อว่าครูหมอช่วยคุ้มครองให้รอดพ้นจากอันตราย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตลอดจนบันดาลให้สมปรารถนา แล้วจึงจัดโนราโรงครูตอบแทน 3) พิธีกรรมโนราโรงครูจึงยังคงมีการจัดสืบเนื่องต่อมาและในปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้นเนื่องจากชาวบ้านบนบานครูหมอกันมาก 4) ชุมชนปลายระไมเองมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งความพร้อมด้านเศรษฐกิจ การมีเครือข่ายญาติพี่น้องที่เหนียวแน่น ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาไทย ค่านิยมเรื่องการบูชาครู ความกตัญญูกตเวที การรักษาสัจจะ รวมทั้งความภาคภูมิใจในการเป็นคนสยาม นอกจากนี้วัฒนธรรมโนราที่บ้านปลายระไมยังมีบทบาทในการช่วยสืบทอดอัตลักษณ์ความเป็นชาวสยามและการสร้างความทรงจำร่วมให้กับคนในชุมชน ให้ความบันเทิงแก่คนในชุมชน เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับคนในชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนชาวสยามในบริบทต่างแดน