Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีทางภาษาที่ผู้พูดภาษาไทยใช้แสดงความเห็นแย้งในปริจเฉทการสนทนาภาษาไทย และเปรียบเทียบกลวิธีทางภาษาที่ผู้พูดภาษาไทยใช้แสดงความเห็นแย้งในปริจเฉทการสนทนา 2 ชนิด คือ บทสนทนาแบบเน้นภารกิจ (task-based conversation) และบทสนทนาแบบแสดงความคิดเห็น (argumentative conversation) รวมทั้งศึกษาข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจที่ผู้พูดภาษาไทยคำนึงถึงในการแสดงความเห็นแย้ง ข้อมูลในการศึกษากลวิธีทางภาษาที่ผู้พูดภาษาไทยใช้ในการแสดงความเห็นแย้งมาจากปริจเฉทการสนทนาที่เกิดขึ้นจริง 2 ชนิด คือ บทสนทนาแบบเน้นภารกิจ และบทสนทนาแบบแสดงความคิดเห็น ส่วนข้อมูลในการศึกษาข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจที่ผู้พูดภาษาไทยคำนึงถึงในการแสดงความเห็นแย้งมาจากการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างผู้พูดภาษาไทย รวมถึงการศึกษาจากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมตามมุมมองที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาเสนอไว้ ผลการวิจัยพบว่า ผู้พูดภาษาไทยเลือกใช้กลวิธีทางภาษาในการแสดงความเห็นแย้งจำนวน 21 วิธี จัดเป็นกลวิธีหลักทั้งสิ้น 4 กลวิธี เรียงลำดับความถี่การปรากฏจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ 1.กลวิธีทางภาษาแบบลดน้ำหนักความรุนแรง (คิดเป็นร้อยละ 56.47) 2.กลวิธีทางภาษาแบบโน้มน้าวให้เชื่อหรือคล้อยตาม (คิดเป็นร้อยละ 31.81) 3.กลวิธีทางภาษาแบบตรงไปตรงมา (คิดเป็นร้อยละ 8.40) และ 4.กลวิธีทางภาษาแบบประชดประชัน (คิดเป็นร้อยละ 3.28) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกลวิธีทางภาษาที่ผู้พูดภาษาไทยใช้แสดงความเห็นแย้งในปริจเฉทการสนทนา 2 ชนิด พบว่า กลวิธีทางภาษาที่ผู้พูดภาษาไทยใช้แสดงความเห็นแย้งในบทสนทนาแบบแสดงความคิดเห็นมีความหลากหลายกว่าในบทสนทนาแบบเน้นภารกิจ ทำให้เห็นว่าชนิดของปริจเฉทการสนทนามีผลต่อการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาในการแสดงความเห็นแย้ง ผลการศึกษาข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจที่ผู้พูดภาษาไทยคำนึงถึงในการแสดงความเห็นแย้งพบว่า ข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจที่ผู้พูดภาษาไทยคำนึงถึงในการแสดงความเห็นแย้งมี 2 ส่วน คือ 1.ข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ของการสนทนา และ 2.ข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจในส่วนที่เป็นปริบทของการสนทนา การรักษาความสัมพันธ์ของคู่สนทนาเป็นข้อคำนึงที่ผู้พูดภาษาไทยส่วนใหญ่คำนึงถึงมากที่สุดในการแสดงความเห็นแย้ง การที่ผู้พูดภาษาไทยส่วนใหญ่เลือกใช้กลวิธีทางภาษาแบบลดน้ำหนักความรุนแรงในการแสดงความเห็นแย้งเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคู่สนทนามากกว่าการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาที่ทำให้คู่สนทนาเข้าใจการแสดงความเห็นแย้งอย่างตรงไปตรงมาสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยและประนีประนอม อีกทั้งไม่ชอบความขัดแย้งและการเผชิญหน้า รวมไปถึงยังให้ความสำคัญกับความเกรงใจและความถ่อมตนต่อคู่สนทนา พฤติกรรมทางภาษาดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเรื่องการมีมุมมองตัวตนแบบพึ่งพา(an interdependent view of self) ความเป็นสังคมแบบอิงกลุ่ม(collectivism) ความเป็นสังคมแบบไมตรีสัมพันธ์ (affiliative society) ความเป็นสังคมแบบให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal orientation) และความเป็นวัฒนธรรมปริบทสูง (High context culture ) ซึ่งปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมส่วนใหญ่เหล่านี้มักได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดในพระพุทธศาสนา