Abstract:
บิสฟีนอลเอ (Bisphenol A, BPA) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็น endocrine disruptor พบได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์ของอาหารหรือเครื่องดื่ม ขวดพลาสติก เป็นต้น การศึกษาครั้งนี้ ได้พัฒนากระบวนการสกัดสาร BPA ในน้ำผลไม้/น้ำผักสำเร็จรูปและพัฒนากระบวนการสกัดหาสารบิสฟีนอลเอกลูคูโรไนด์(BPA-glucuronide, BPA-G) ในตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อใช้ในการตรวจวัดด้วยลิควิดโครมาโทกราฟี แทนเด็มแมสสเปกโทรเมรี (LC-MS/MS) ในส่วนของน้ำผลไม้/น้ำผัก ได้พัฒนากระบวนการสกัดสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ในน้ำผลไม้/น้ำผักซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ BPA ด้วย solid phase extraction โดยใช้สารละลาย Acetic acid/Acetonitrile เมื่อวิเคราะห์ด้วย LC-MS/MS พบว่าสามารถวิเคราะห์ BPA ได้ภายในเวลา 1 นาที และมีค่าการวิเคราะห์กลับคืนในช่วง 82.73-108.79% ค่าขีดจำกัดต่ำสุดของการตรวจวัด เท่ากับ 0.05 ng/mL และขีดจำกัดต่ำสุดของการหาปริมาณ เท่ากับ 0.25 ng/mL ค่าความเป็นเส้นตรงของกราฟมาตรฐาน (r2 > 0.997) ความเที่ยงตรงเมื่อวิเคราะห์ภายในวันเดียวกันและต่างวันกัน เท่ากับ 0.41-2.19% และ 3.62-5.75% ตามลำดับ ในการหาปริมาณ BPA ในน้ำผลไม้/น้ำผัก ที่วางขายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าในน้ำผลไม้มีปริมาณ BPA ปนเปื้อนสูงสุด คือ 68.28 ng/mL สำหรับการพัฒนาวิธี salting-out assisted liquid/liquid extraction (SALLE) สำหรับสกัด BPA-G จากปัสสาวะ เมื่อวิเคราะห์ด้วย LC-MS/MS พบว่าค่าการวิเคราะห์กลับคืนในช่วง 88.98-102.45% ค่าขีดจำกัดของการตรวจวัด เท่ากับ 0.4 ng/mL และขีดจำกัดของการหาปริมาณ เท่ากับ 1 ng/mL ค่าความเป็นเส้นตรงของกราฟมาตรฐาน (r2 > 0.998) ความเที่ยงตรงเมื่อวิเคราะห์ภายในวันเดียวกันและต่างวันกัน เท่ากับ 1.95-4.99% และ 1.84-7.3% ตามลำดับ และเมื่อนำวิธี SALLE ที่พัฒนาขึ้นไปหาปริมาณ BPA-G ในปัสสาวะของผู้ร่วมโครงการวิจัย พบว่าปริมาณ BPA-G ในปัสสาวะสูงที่สุด เท่ากับ 769.62 µg/g creatinine และต่ำที่สุด เท่ากับ 5.13 µg/g creatinine ซึ่งวิธี SALLE ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อหาปริมาณ BPA-G ในปัสสาวะ สำหรับงานวิจัยขั้นต่อไปได้