Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวรรณกรรมประเภทอาชญนิยายของประเทศญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญภายใต้การพัฒนาและการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยได้เลือกศึกษาจากอาชญนิยายร่วมสมัยที่ถูกประพันธ์ขึ้นในราวทศวรรษที่ 1990 และ 2000 ได้แก่เรื่อง ออล ชี วอส เวิร์ธ (All She was Worth) (1992) ของ มิยูกิ มิยาเบะ (Miyuki Miyabe), เอ๊าท์ (Out) (1997) และ โกรเทสค์ (Grotesque) (2003) ของนัตสึโอะ คิริโนะ (Nutsuo Kirino), ไซอะคุ (Sai-aku) (2002) ของ ฮิเดะโอะ โอคุดะ (Hideo Okuda) และ ซาลเวชั่น อ๊อฟ อะ เซ้นท์ (Salvation of a Saint) (2008) ของ เคโงะ ฮิงาชิโนะ (Keigo Higashino) จากการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์แบบพึ่งพาและส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงญี่ปุ่นสมัยใหม่ไม่ได้ประสบแต่ช่องว่างและการแบ่งชนชั้นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับการถูกกีดกันทางเพศทั้งในพื้นที่บ้านและพื้นที่การทำงานด้วย การกีดกันเหล่านี้อยู่ในรูปของการถูกแบ่งแยกและกำหนดบทบาทการผลิตให้จำกัดอยู่เพียงแค่การสืบพันธุ์ การถูกทำให้เป็นเหยื่อของการบริโภคเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ ไม่เพียงเท่านั้น ระบบทุนนิยมปิตาธิปไตยังสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้พวกเธอถูกกดขี่อย่างซ้ำซ้อนโดยผู้หญิงด้วยกันเอง ในที่สุด การหมดความอดทนต่อความไม่เป็นธรรมและการถูกเอารัดเอาเปรียบภายใต้ระบบทุนนิยมปิตาธิปไตยได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้ตัวละครหญิงลุกขึ้นมากระทำการตอบโต้ผ่านการก่ออาชญากรรมและการมีพฤติกรรมที่ท้าทายต่อระเบียบแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ที่สังคมทุนนิยมปิตาธิปไตยวางไว้ แต่อย่างไรก็ตาม เส้นทางการโต้กลับของตัวละครหญิงกลับดำเนินไปอย่างทุลักทุเลเนื่องจากพวกเธอต่างต้องเผชิญกับการแก้แค้นของตัวละครชายหรือกลไกทางสังคมที่ทำหน้าที่เสมือนปราการปกป้องความมั่นคงแก่ระบบทุนนิยมปิตาธิปไตย ซึ่งอุปสรรคที่ขัดขวางการโต้กลับเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการก้าวข้ามหรือปลดแอกตนเองสู่ความเป็นไทจากระบบทุนนิยมปิตาธิปไตยเป็นเรื่องที่ยากหรือไม่อาจเป็นไปได้สำหรับผู้หญิง