Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ต้องการตอบคำถาม 2 ประการ คือหนึ่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงวัยและผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่มีมุมมองที่ต่างกันหรือไม่ในการตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และสองหากมีหรือไม่มีความแตกต่าง ปัจจัยใดที่ส่งต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มสูงอายุและกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ดังกล่าว วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์เอกสารและการเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยทำแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ โดยเก็บข้อมูล 2 เขตเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา คือเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเขตเมือง และ เขตเลือกตั้งที่7 ซึ่งเป็นเขตชนบท จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 400 คน และสัมภาษณ์จำนวน 21 คน ผลการวิจัยพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยและผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ไม่ได้มีมุมมองการตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่การศึกษาพบว่ามีข้อแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยในชนบทที่มีสัดส่วนการสนับสนุนการตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์สูงกว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเมือง ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ในเมืองที่มีสัดส่วนการสนับสนุนการตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์สูงกว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตชนบท แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสองกลุ่มแตกต่างกันไป ปัจจัยที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยเห็นด้วยการตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์มาจากการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยมองว่ากลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และพรรคประชาธิปัตย์คือพวกเดียวกันจึงทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยสนับสนุนการดำเนินการต่างๆของกลุ่ม กปปส. พร้อมๆกันนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอายุสูงวัยรับข่าวสารทางการเมืองผ่านช่องบลูสกายเป็นส่วนใหญ่จึงถูกกลุ่ม กปปส. กล่อมเกลาทางการเมืองให้เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่เห็นด้วยการตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มาจากการกล่อมเกลาทางการเมืองจากครอบครัวเป็นหลัก แต่มาจากเลือกรับสื่อที่นำเสนอข้อมูลตรงกับมุมมองทางการเมืองของตนเองจึงอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และสื่อทางสังคมสมัยใหม่ที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง